เอ็นโก้ 18 ต.ค. – กระทรวงพลังงานเดินหน้ามาตรการชดเชยค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 3 บาทต่อลิตรให้แก่วินมอเตอร์ไซค์ คาดพร้อมใช้ธันวาคมนี้ตามแผนแน่นอน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ว่า เบื้องต้นได้รับมอบหมายให้พิจารณามาตรการชดเชยค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 3 บาทต่อลิตรแก่ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างสาธารณะ หรือวินมอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งขณะนี้ให้กรมธุรกิจพลังงานไปตรวจสอบวินมอเตอร์ไซค์ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ที่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
สำหรับหลักการ คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเป็นวินมอเตอร์ไซค์จะได้รับสิทธิประโยชน์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับกรมการขนส่งทางบก กรมบัญชีกลาง ที่ต้องร่วมกันพิจารณาว่ามีผู้เข้าข่ายกลุ่มนี้จำนวนเท่าไหร่ และจะมีผู้ค้าตามมาตรา 7 รายใดเข้าร่วมโครงการอีกบ้างนอกจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงพลังงานจะทำพรีเซนเทชั่นชักชวนผู้ค้ารายอื่นด้วย ยืนยันจะพิจารณาให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลบังคับใช้ช่วงเดือนธันวาคมนี้ตามที่กำหนดไว้ตามแผน
นอกจากนี้ กำลังจะจัดทำแผนต่าง ๆ ทั้งแผนปฏิรูปพลังงาน แผนยุทธศาตร์ชาติ ปี 2562 – 2565 มีเป้าหมายและการดำเนินนโยบายต่าง ๆ อย่างไรบ้างต้องมีความชัดเจน เป็นหลักตั้งต้นในการทำงานตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ทั้งแผนน้ำมัน แผนไฟฟ้า แผนก๊าซ แผนพลังงานทดแทน เพื่อมีระบบจัดการที่ชัดเจน โดยจะต้องจัดลำดับความสำคัญและจำเป็นแต่ละนโยบายว่าอะไรดำเนินการก่อนหลัง ซึ่งต้องสอดล้องกันทั้งแผนบุคลากร แผนงาน แผนเงิน คาดแผนปฏิบัติการจะเสร็จภายใน 2 – 3 เดือนนับจากนี้ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติเป็นผลโดยเร็วที่สุด
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่านายกุลิศ เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในสมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการคลังจะเอื้อประโยชน์ต่อการพิจารณาให้สิทธิเอกชนเข้าประมูลแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงเอราวัณและบงกชหรือไม่ ส่วนตัวขอชี้แจงว่าเมื่อครั้งกระทรวงการคลังเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนนั่งใน ปตท.สผ. สมัยนั้นก็ไม่ได้รู้มาก่อนว่าอนาคตจะต้องมารับตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน แต่พอรู้ตัวก็ได้ลาออกจาก ปตท.สผ.ทันที จึงยืนยันการทำหน้าที่ในบทบาทปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยและมีความโปร่งใสแน่นอน
ขณะเดียวกันในสมัยที่นายกุลิศ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรนั้น ยังเคยพิจารณากรณีบริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด อ้างว่าการส่งน้ำมันให้บริษัทในเครือใช้เติมเครื่องจักรและสำรวจขุดเจาะน้ำมันบริเวณอ่าวไทยเป็นการซื้อขายน้ำมันในราชอาณาจักร จึงควรได้รับการยกเว้นภาษีหรือคืนภาษีในประเทศ แม้สุดท้ายกรมศุลกากรจะตีความให้เชฟรอนต้องเสียภาษีกว่า 3,000 ล้านบาท เพราะถือเป็นการซื้อขายข้ามแดน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าเจตนารมณ์ของเชฟรอนครั้งนั้นอาจต้องการหลีกเลี่ยงภาษีจะมีผลต่อการคัดเลือกผู้ประมูลสิทธิ์สำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมในแปลงเอราวัณและบงกชหรือไม่ ส่วนตัวไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาให้สิทธิ์สำรวจและผลิตฯ ซึ่งที่ผ่านมาเชฟรอนก็ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นไปแล้ว อีกทั้งเรื่องภาษีเชฟรอนก็ยุติลงแล้วเช่นกัน . – สำนักข่าวไทย