กทม. 15 ต.ค. – ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ชี้ชัดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มคู่รักคนไทยหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12
สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ขนาดครอบครัวที่เคยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ทั้งพ่อแม่ลูก ปู่ยา ตายาย และญาติพี่น้อง แปรสภาพมาเป็นครอบครัวเดี่ยว อยู่ร่วมกันเพียงลำพังเฉพาะพ่อแม่ลูกมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับความเปราะบาง เกิดปัญหาครอบครัว และสุ่มเสี่ยงต่อการหย่าร้างแยกทางกันมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลจากการสำรวจของกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในปี 2559 มีจำนวนครอบครัวทั้งหมดกว่า 25 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้มีการจดทะเบียนสมรสรวม 307,746 คู่ และมีผู้จดทะเบียนหย่าจำนวน 118,539 คู่ ถัดมาในปี 2560 มีคู่รักจดทะเบียนหย่าเพิ่มขึ้นเป็น 121,658 คู่ นอกจากนี้ยังมีการหย่าขาดกันที่ต่างประเทศ เมื่อปี 2559 อีกจำนวน 412 คู่ ส่วนปี 2560 มีคู่รักหย่าขาดจากกันเพิ่มขึ้น 426 คู่
สำหรับปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ มีคู่รักมาจดทะเบียนสมรส 31,173 คู่ และมีการจดทะเบียนหย่าร้างแล้ว 14,047 คู่
ขณะที่สถิติการหย่าร้างในภาพรวมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 25 ของคู่จดทะเบียนสมรสในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39 ในปี 2559 ปัจจัยสำคัญหลักๆ มาจากแรงกดดันภายนอก เช่น ความเครียดจากการทำงาน สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อสัมพันธภาพภายในครอบครัว. – สำนักข่าวไทย