ชลบุรี 11 ต.ค.-เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสานต่อแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 วันนี้สำนักข่าวไทยจะพาไปดูการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ชลบุรี ซึ่ง “อาจารย์ยักษ์” รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ก่อตั้ง โดยทำการเกษตรแบบยั่งยืนไม่พึ่งสารเคมี
การใช้ฟางห่มดินตรงที่จะนำต้นไม้ลงปลูก ใส่ปุ๋ยแห้งที่ทำจากอินทรีย์วัตถุ เช่น ใบไม้ แกลบ มูลสัตว์ รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ คือวิธีการปลูกต้นไม้ของที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ชลบุรี
นอกจากจะช่วยบำรุงดิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังจะช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโต โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี และประหยัด เพราะหาวัตถุดิบได้ง่ายในพื้นที่
ส่วนการทำน้ำหมักชีวภาพ ที่ใช้ในการเกษตรและปศุสัตว์ จะมีส่วนผสมจากสมุนไพร เรียกว่า สมุนไพร 7 รส อย่างนี่เป็นน้ำหมักชีวภาพรสจืด เพื่อบำรุงดิน มีส่วนผสมจากหน่อกล้วย น้ำตาล และหัวเชื้อน้ำหมัก และยังมีสมุนไพรรสอื่น อย่างรสเมาเบื่อ รสเผ็ดร้อน เป็นสูตรป้องกันแมลง ทดแทนการใช้สารเคมี ต้นทุนไม่เกิน 100 บาท
หลักสูตรการอบรมที่นี่ ยังรวมไปถึงการวางแผนจัดการพื้นที่ทำการเกษตร แบบโคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะแบ่งพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และพื้นที่ทำการเกษตร ให้สอดคล้องกับพื้นที่นั้น โดยให้ธรรมชาติเป็นตัวจัดการ ซึ่งเป็นอีกหัวข้อหลักที่ผู้เข้าอบรมต้องเรียนรู้ แล้วนำกลับไปใช้จริง
อดีตพนักงานบริษัทคนนี้ เพิ่งลาออกจากงาน คิดจะกลับไปทำการเกษตรที่เพชรบูรณ์บ้านเกิด เธอวางแผนพื้นที่ทำการเกษตรลงบนกระดาษ จากความรู้ที่ได้รับ
“อาจารย์ยักษ์” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง บอกว่า ที่นี่เป็นเหมือนสถานที่บ่มเพาะด้านเกษตรอินทรีย์ ช่วงแรกผู้เข้าอบรมเป็นเกษตรกรที่ต้องการทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี การสอนทำให้เปลี่ยนวิธีคิด ลงมือทำจริง จนพบว่าการทำเกษตรอินทรีย์มีรายได้มากกว่าพึ่งสารเคมี 3-4 เท่า
ตลอด 20 ปี ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เผยแพร่แนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ มีผู้สนใจเข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง ระยะหลังยังมีผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพไปทำการเกษตรเข้าอบรมมากขึ้น โดยมีศูนย์ฝึก ซึ่งเป็นเครือข่ายของมูลนิธิอยู่กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามผลผู้ที่เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ พบเกินครึ่งประสบความสำเร็จ มีรายได้เพิ่มและอยู่ในพื้นถิ่น ซึ่งความสำเร็จดังกล่าว มาจากการสานต่อการทำเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9.-สำนักข่าวไทย