กรุงเทพฯ 13 ก.ย.-กลายเป็นที่พูดถึงกันมากในประเด็นความปลอดภัยของอาคารสูงต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เพิ่งจะมีเหตุอาคารพาณิชย์ย่านประชานิเวศน์พังลงมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ล่าสุด วสท.ออกมาให้ข้อมูลว่า พบกว่า 4,000 อาคารที่ไม่ได้มีการตรวจสอบความปลอดภัย
สร้างความตระหนกต่อประชาชนอย่างมาก หลังอาคารพาณิชย์ขนาด 3 ชั้นย่านประชานิเวศน์พังถล่มลงมา จนหลายฝ่ายคำถามถึงความปลอดภัยของอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ตั้งตระหง่านเรียงราย จะมั่นใจความปลอดภัยได้หรือไม่
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ วสท. เผยสาเหตุที่อาคารจะถล่มได้ หลักๆ มาจากโครงสร้างอาคารขาดความมั่นคง แข็งแรง ออกแบบไม่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญแม้จะสร้างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ไม่ว่าจะอาคารใหม่หรือเก่า หากไม่มีการตรวจสอบ ก็พร้อมจะล้มพังได้ทุกเมื่อ โดยอาคารที่จะต้องตรวจสอบตามกฎหมาย มีอยู่ 9 ประเภท อาทิ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งใน กทม.มีอาคารสูงกว่า 15,000 อาคาร แต่พบมีกว่า 4,000 อาคารยอมไม่ส่งแบบตรวจสอบด้านความปลอดภัย ที่จะตรวจสอบซ้ำทุกปี และตรวจสอบชุดใหญ่ทุกๆ 5 ปี
ด้าน กทม.เผยอาคารสูงในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ย่านธุรกิจใจกลางเมือง อาทิ ปทุมวัน สีลม สาทร สุขุมวิท ส่วน 4,000 อาคารที่ไม่ส่งแบบตรวจความปลอดภัย ส่วนใหญ่เป็นคอนโดฯ อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ ย่านใจกลางเมือง ทั้งหมดเกิดจากความเข้าใจผิด โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจ หากยังไม่ยอมตรวจสอบหลังแจ้งภายใน 60 วัน /ต้องมีโทษทั้งจำและปรับ ที่ผ่านมาเคยมีอาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนและถูกจำคุกแล้วหลายสิบราย
นอกจากอาคารสูงแล้ว บ้านเรือนประชาชนที่ไม่อยู่ในอาคาร 9 ประเภท ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะอาคารเก่าเช่นย่านประชานิเวศน์ ผู้อยู่อาศัยถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยป้องกันเหตุร้าย หากพบรอยร้าว อาคารผิดรูป ควรรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้เชี่ยวชาญเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย