กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – กลุ่มผู้ประกอบการหวังกระทรวงพลังงานปรับเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในแผนพีดีใหม่ คาด 800-1,000 เมกะวัตต์
ในแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาวหรือพีดีพีฉบับปัจจุบันตามแผน 20 ปี มีกำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ในวงเสวนา “ทางเลือกทางรอดโรงไฟฟ้าขยะ” มีข้อเสนอว่ากระทรวงพลังงานควรปรับแผนพีดีพี ควรให้ซื้อเพิ่มขึ้นจากแผนเดิม เพราะปัจจุบันโครงการรับซื้อทั้งเดินเครื่องแล้วและอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบการมีถึง 447 เมกะวัตต์ 55 โครงการ
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี อดีตรองผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขยะนั้น ช่วยแก้ไขปัญหาขยะชุมชนที่ตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 2560 ขยะชุมชน 27.4 ล้านตัน/ปี ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สูงถึงเกือบ 14,000 ล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าขยะต้องดูว่าเป้าหมาย คือ เป็นส่วนช่วยกำจัดขยะเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มองว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่ต้องซื้อขยะเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น โครงการจะเกิดขึ้นได้ต้องมีค่ากำจัดที่เหมาะสม ไม่ใช่กระทบค่าไฟฟ้า และสามารถกำจัดข้ามพื้นที่ได้ เช่น สวีเดน ขนขยะจากเพื่อนบ้านมาใช้ในโรงไฟฟ้าขยะ โดยได้รับผลตอบแทนค่ากำจัดถึง 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) กล่าวว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าจากขยะแล้ว 180 เมกะวัตต์ แต่ที่ไม่ถูกต่อต้านก็เป็นผลมาจากการชี้แจงและการกระทำจริง ทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นและแสดงผลให้เห็นชัดว่าชาวบ้านได้ประโยชน์อะไร สิ่งสำคัญ คือ อปท.หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เจ้าของขยะต้องร่วมกันจ่ายค่ากำจัดด้วย โดยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับองค์กรนั้น ๆ ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 400-600 บาทต่อตัน ส่วนในแผนพีดีพีใหม่นั้น ทราบว่ากระทรวงพลังงานกำลังทบทวน หากเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากขยะเป็น 800-1,000 เมกะวัตต์ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม ขณะที่ถ้ามีค่ากำจัดขยะก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ที่ปัจจุบันกำหนดรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (วีเอสพีพี) อยู่ที่ 5.08 บาทต่อหน่วย และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะ Quick Win จำนวน 8 พื้นที่ 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพื้นที่ไว้ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดระยะเวลาส่งเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ในปี 2562 คาดว่าโครงการนี้คงไม่เกิดขึ้น เท่าที่ทราบขณะนี้หยุดดำเนินการหมดแล้ว เพราะเอกชนไม่สามารถทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดระบบ Gasification ซึ่งมีต้นทุนสูงเกินไปไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยการดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะนั้น ภาครัฐไม่ควรกำหนดเทคโนโลยีควรให้เอกชนเป็นผู้ตัดสินใจเองจะดีกว่า
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท TPIPP คาดว่าปีนี้รายได้จะทำสถิติสูงสุดประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท หลังCOD โรงไฟฟ้าครบ 440 เมกะวัตต์ตามเป้าหมายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบัน COD แล้ว 290 เมกะวัตต์ โดยในส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบไตรมาส 4 ปีนี้ โดยปี 2560 บริษัทมีรายได้ประมาณ 800 ล้านบาท จากกำลังผลิตที่ COD แล้ว 150 เมกะวัตต์
น.ส.เสวิตา ถิ่นสันติสุข กรรมการประสานงานต่างประเทศ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการสร้างโรงไฟฟ้าขยะเกิดจากมีหน่วยรัฐที่เกี่ยวข้องมากถึง 10 หน่วยงาน 15 ใบอนุญาต ส่งผลให้มีขั้นตอนและกฎระบียบมากเกินไป อีกทั้งการใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดปี 2560 ขาดความคล่องตัว ดังนั้น เอกชนต้องการให้ภาครัฐลดขั้นตอนการขออนุญาตจัดการขยะและสร้างโรงไฟฟ้าลง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม.- สำนักข่าวไทย