สกลนคร 1 ต.ค. – จากสภาวะราคาข้าว ยางพารา ประสบปัญหาราคาตกต่ำ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ เกษตรจังหวัดสกลนคร จึงชักชวนเกษตรกรที่ปลูกข้าวกรีดยางพาราอยู่ ไปดูทางเลือกในการทำเกษตรผสมผสานอีกอาชีพหนึ่งที่สวนของตนเอง ซึ่งเป็นแปลงเกษตรภายในสวนยางพารากว่า 10 ไร่ ที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เดิมสวนแห่งนี้นอกจากปลูกยางพาราแล้วยังเพาะถั่วงอกส่งขาย ต่อมาเห็นว่าพื้นที่ภายในสวนยางพาราเหลือเยอะ เพราะทำเกษตรเชิงเดี่ยว จึงแบ่งพื้นที่ทำปศุสัตว์ โดยการทำฟาร์มไก่ขนาดเล็กและเป็นฟาร์มไก่สายพันธุ์ชื่อดังของ จ.สกลนคร
เริ่มแรกใช้งบประมาณไม่มากนัก โดยการทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ แบ่งเป็นคอกประมาณ 10-12 คอก วางระบบให้อาหารให้น้ำหลอดไฟสีส้มในคอกไก่อนุบาลและตู้ฟักไข่ สำหรับไก่พันธุ์ที่จะนำมาเลี้ยงต้องดูความต้องการของท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นไก่พันธุ์เนื้อและไก่พันธุ์ไข่ จึงอยากให้เลี้ยงผสมกัน โดยการนำเอาไก่ดำสายพันธุ์ KU จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตสกลนคร มาเลี้ยง
ไก่ดำสายพันธุ์ KU มีลักษณะที่สวยงามขนขาวหัวดำขาดำเนื้อสีดำและน้ำหนักเยอะ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคอยู่ในขณะนี้ และอีกสายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่กำลังได้รับความนิยมคือ ไก่พันธุ์เนื้อสายพันธุ์เหลืองดงยอ พัฒนามาจากสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนคร ไก่สายพันธุ์นี้จะมีสีเหลืองขนสวยงามน้ำหนักเยอะ และไข่ดก น้ำหนัก 1-1.2 กิโลกรัม เนื้อนุ่มไม่เหนียว เหมาะไปทำข้าวมันไก่ นอกจากนี้ยังเลี้ยงไก่พื้นเมือง เช่น ไก่สกลทวาปี
นายณัฏฐกิตติ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันขยายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่แล้วกว่า 1,000 ตัว เพราะมีระบบเพาะพันธุ์ตั้งแต่ตู้ฟักไข่ คอกไก่อนุบาล ไปจนถึงคอกไก่โตเต็มวัย การให้อาหารไม่ได้ให้หัวอาหารอย่างเดียว เพราะต้นทุนสูง จะลดต้นทุนด้วยวิธีการใช้ข้าวเปลือกประมาณ 3 กิโลกรัม หัวอาหาร 2 กิโลกรัม ผสมกัน สามารถใช้เลี้ยงไก่ได้นานถึง 60-70 วัน น้ำหนักไก่เมื่อโตเต็มวัยจะหนักประมาณ 1-1.2 กิโลกรัม ก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว ตกต้นทุนกิโลกรัมละ 50 บาท หากนำไปขายที่ตลาดหรือมีคนมารับซื้อเฉลี่ยกิโลกรัมละ 120-140 บาท ส่วนไข่ไก่พื้นเมืองฟองละ 5 บาท หากเป็นไข่ไก่ดำจะแพงถึงฟองละ 15 บาท ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในอาชีพทางเลือก ใช้พื้นที่ไม่มาก
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวอีกว่า การเลี้ยงไก่สายพันธุ์ต่างๆ เพื่อขายไข่และเนื้อ ยังเป็นอาชีพที่มั่นคง เพราะคนนิยมบริโภคเป็นอาหารหลักอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด เพราะตอนนี้ก็ผลิตแทบไม่ทัน ในฐานะที่ตนเป็น จนท.ทางการเกษตรอยู่แล้ว จึงอยากส่งเสริมให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาภาวะราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ให้เลือกอาชีพนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำเกษตรผสมผสานเพื่อแก้วิกฤติ หากใครสนใจ สอบถามรายละเอียดและติดต่อได้ที่ สนง.เกษตรจังหวัดสกลนคร ในวัน-เวลาราชการ. – สำนักข่าวไทย