กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – คณะทำงานฯ สรุปแนวทางจัดสรรสิทธิ์การจำหน่ายนมโรงเรียน 28 ก.ย.นี้ เน้นโปร่งใส ไม่ทุจริต
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวว่า ได้กำชับคณะทำงานศึกษาเกณฑ์จัดสรรสิทธิ์นมโรงเรียน ซึ่งมีนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ทันการพิจารณาจัดสรรสิทธิ์ผู้ประกอบการที่ยื่นขอผลิตและจำหน่ายนมโรงเรียนในภาคเรียนที่ 2/2561 โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวจะประชุมสรุปในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อที่จะนำเสนอคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนต่อไป
นายกฤษฎา กล่าวว่า จากการที่ผู้แทนสหกรณ์ที่ผลิตนมโรงเรียนเข้าให้ข้อคิดเห็นเรื่องเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์ที่เป็นธรรมและได้ประชุมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ นมโรงเรียน ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ นมโรงเรียน และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนมทั้งระบบ รวมถึงเป็นผู้รวบรวมการทำข้อตกลงซื้อขาย (MOU) น้ำนมดิบระหว่างผู้ประกอบการกับสหกรณ์และศูนย์รวบรวมนมทั้งประเทศ จึงได้ให้ข้อเสนอแนะว่าเกณฑ์พิจารณาจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีนี้เป็นต้นไป ต้องโปร่งใส ไม่มีการทุจริต เกษตรกรขายนมได้ในราคาที่เหมาะสม และเด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรสิทธิ์ แต่จะทำให้รอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น
ส่วนแนวทางเบื้องต้นหลังจากเปิดรับสมัครผู้ต้องการขอรับสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียน คือ นอกจากจะดู MOU ว่า ทำสัญญาจะรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรจำนวนกี่ตันต่อวันแล้ว ยังจะต้องตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการสามารถรวบรวมน้ำนมดิบได้ตามจำนวนที่แจ้งหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่า ผู้ประกอบการหลายรายทำ MOU รับซื้อนมเป็นปริมาณมาก แต่รวบรวมน้ำนมดิบไม่เพียงพอ แล้วนำนมผงมาละลายน้ำ เนื่องจากนมผงนำเข้าจากต่างประเทศราคาเพียงกิโลกรัมละ 4 บาท ส่วนน้ำนมดิบราคาเฉลี่ย 18-19 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีบางรายไปซื้อน้ำนมดิบจากแหล่งอื่นที่ไม่ผ่านการตรวจคุณภาพของกรมปศุสัตว์มาผลิตเป็นนมโรงเรียน ซึ่งกำหนดค่าไว้ว่าต้องมีปริมาณของแข็งในน้ำนม (Total Solid) เช่น โปรตีน ไขมัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 12.25 และมีค่าเซลล์เม็ดเลือดขาว (Somatic Cell) ไม่เกิน 500,000 เซลล์ต่อมิลลิลิตร
ทั้งนี้ การแจ้ง MOU ทำไว้สูงกว่านมที่ผลิตได้จริง เพื่อหวังได้รับการจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียนเพิ่มขึ้น ยังเป็นการเบียดบังสัดส่วนสิทธิการจำหน่ายของสหกรณ์ที่มีน้ำนมดิบเพียงพอด้วย คณะทำงานจึงมีแนวทางเบื้องต้นว่า ในการยื่นขอจัดสรรสิทธิ์นอกจากจะนำ MOU มาแสดงแล้ว สมควรจะต้องนำใบเสร็จการซื้อนมหรือหลักฐานการจ่ายภาษีสรรพากรมายื่นเพื่อเป็นหลักฐานด้วยว่ามีการรับซื้อน้ำนมจากสหกรณ์จริงตาม MOU หรือไม่ อีกทั้งตรวจสอบจำนวนแม่โคว่ามีเพียงพอที่จะผลิตน้ำนมตามที่ขอรับสิทธิ์หรือไม่ คณะอนุกรรมการฯ นมโรงเรียนรายงานว่าการพิจารณาจัดสรรสิทธินั้น สหกรณ์ที่ขอสิทธิ์จำหน่ายไม่เกินวันละ 5 ตันจะได้รับสิทธิ์เลย หากเกินจะพิจารณาจาก MOU พื้นที่ที่จะจัดส่งและประวัติว่า เคยจัดส่งเท่าไร หากยังคงทำได้ตามเดิม ก็จะได้รับสิทธิ์ตามเดิม แต่ถ้านมที่จัดส่งมีปัญหาบูดหรือคุณภาพต่ำจะถูกตัดสิทธิ์ตามสัดส่วนของโทษที่กำหนดไว้
คณะทำงานศึกษาแนวทางจัดสรรสิทธิ์ยังจะตรวจสอบจำนวนแม่โคที่ให้นม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า ทั้งประเทศมีจำนวนกี่ตัว ให้นมได้วันละเท่าไร ซึ่งจากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ระบุว่าแม่โคที่ให้นมได้มีประมาณ 600,000 ตัว ให้นมเฉลี่ยวันละ 13-14 กิโลกรัมต่อตัว รวมผลิตน้ำนมได้วันละ 3,300 ตัน โดย 2 ใน 3 ใช้ผลิตนมพาณิชย์ ส่วนอีก 1,100 ตันใช้ผลิตนมโรงเรียน โดยเป็นปริมาณที่คำนวณจากจำนวนเด็กนักเรียนที่มี 7,540,000 คน ดื่มคนละ 200 มิลลิลิตรต่อวัน แต่ปริมาณการผลิตตาม MOU ที่ขอมารวม 1,400 ตัน ซึ่งเกินจากปริมาณที่ใช้จริงถึง 300 ตันต่อวัน ซึ่งต้องหาวิธีการปิดช่องทางการทุจริตนี้ และในวันที่ 28 กันยายนคณะทำงานจะประชุมสรุปแนวทางการจัดสรรสิทธิ เพื่อให้มิลค์บอร์ดและคณะอนุกรรมการฯ นมโรงเรียนนำไปพิจารณาดำเนินการประมาณต้นเดือนตุลาคม เพื่อให้จัดสรรสิทธิ์ได้ทันภาคเรียนที่ 2
สำหรับโครงการนมโรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพิ่มสารอาหารให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะได้ดื่มนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงคนละ 260 วันต่อปี ใช้งบประมาณปีละ 14,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย