กทม. 24 ก.ย.-ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับค่าโง่ต่างๆ ที่เป็นข่าวคราวอื้อฉาว หลายครั้งที่ภาครัฐต้องชดใช้เงินภาษีของประชาชน แต่หลายครั้งก็มีคำพิพากษาจากศาลปกครองที่เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้รัฐไม่ต้องเสียค่าโง่หลายครั้ง
เป็นข่าวคราวมาหลายสิบปี เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ คือกรณี “ค่าโง่คลองด่าน” โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่เริ่มโครงการในปี 2538 แต่มีความไม่ชอบมาพากลและเกิดปัญหาการทุจริต จนมีการดำเนินคดีอาญากับนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง กระทั่งในปี 2546 กรมควบคุมมลพิษมีคำสั่งให้เอกชนยุติโครงการและระงับการจ่ายเงินทั้งที่ก่อสร้างไปกว่าร้อยละ 95 มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท แม้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ต้องจ่ายเงินงวดที่เหลือประมาณ 9,600 ล้านบาท แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาถือว่าทำให้รัฐสูญเสียงบโดยไม่เกิดประโยชน์
อีกกรณีที่รัฐหวุดหวิดเสียค่าโง่ คือเอกชนเป็นโจทก์ฟ้องร้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2538 ให้ชำระเงินค่าคงที่ที่เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย จากสัญญาการก่อสร้างทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท โดยอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ทางการพิเศษฯ ชดใช้เงิน แต่อัยการสำนักคดีแพ่งได้เข้าไปช่วยเหลือจนถึงชั้นศาลฎีกา และจนแก้ต่างสำเร็จ ทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินค่าโง่ที่คาดว่าอาจสูงถึง 9,000 ล้านบาทดังกล่าว
อีกกรณีอื้อฉาวคือ อุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิด “GT 200” ที่สั่งซื้อจากเอกชนต่างประเทศ ที่อ้างว่าตรวจจับวัตถุระเบิดได้จริง และมีหลายหน่วยงานของหลายรัฐบาลหลวมตัวจัดซื้อมาใช้งาน รวมแล้วตั้งแต่ปี 2548-2553 ไม่ต่ำกว่า 1,300 เครื่อง รวมเป็นเงิน 1,135 ล้านบาท แต่ทว่าในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2556 ศาลอังกฤษได้พิพากษาให้จำคุกเจมส์ แมคคอร์มิค เป็นเวลา 10 ปี ฐานหลอกขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมดังกล่าว เนื่องจากการสอบสวนชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวงนำอุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้ได้จริงไปขาย
อีกกรณีตัวอย่างคือ โครงการ “โฮปเวลล์” โครงการนี้เริ่มมาในปี 2533 ภายใต้งบ 80,000 ล้านบาท หวังแก้ปัญหาการจราจรด้วยระบบการขนส่งทางถนนและทางรถไฟยกระดับ แต่การก่อสร้างล่าช้าเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลในปี 2541 ที่เห็นว่าการก่อสร้างเดินหน้าไปเพียงร้อยละ 13.7 จากกำหนด 7 ปี ต้องคืบหน้าร้อยละ 89 จึงบอกเลิกสัญญาสัมปทาน และเอกชนคู่สัญญาได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 56,000 ล้านบาท กรณีนี้เกือบจบลงในชั้นคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อปี 2551 ที่ชี้ขาดให้ภาครัฐชดเชยค่าบอกเลิกสัญญา 11,800 ล้านบาท แต่รัฐได้ยื่นศาลปกครองวินิจฉัย กระทั่งมีคำพิพากษาเมื่อปี 2557 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และไม่ต้องจ่ายค่าโง่ ซึ่งขณะนี้เอกชนได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีตามคาด.-สำนักข่าวไทย