กระบี่ 23 ก.ย.- นักวิชาการด้านธรณีวิทยาพบซากฟอสซิลไฮยีน่าลายจุดและแรดชวา ยุคดึกดำบรรพ์ อายุราว 7 แสนปี ในถ้ำยายรวก-เขาถ้ำเพชร ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาเผย เป็นการค้นพบฟอสซิลไฮยีน่าครั้งแรกของทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นสัตว์นักล่า ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา เตรียมสำรวจเพิ่มเติมอีก 5 ปี นายนิวัฒน์ วัฒนายาพร อาสาสมัครกรมศิลปากร นักวิชาการท้องถิ่นประจำศูนย์วัฒนธรรม จ.กระบี่ นำทีมอาสาสมัครอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอ่าวลึก เข้าตรวจสอบซากฟอสซิลสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ ภายในถ้ำ บริเวณภูเขาถ้ำเพชร หมู่ 6 ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก หลังรับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าพบฟอสซิลในผนังถ้ำ ซึ่งคาดว่าเป็นกระดูกสัตว์ มีสภาพแข็งเป็นหิน ทั้งนี้จากการตรวจสอบบริเวณถ้ำยายรวก ซึ่งอยู่ในภูเขาถ้ำเพชร พบตามผนังถ้ำหินปูน มีร่องรอยฟอสซิลกระดูกสัตว์อยู่กระจัดกระจายจำนวนมาก โดยสภาพที่พบเชื่อว่าเป็นกระดูกสัตว์ในยุคโบราณ จากการตรวจสอบบริเวณผนังถ้ำอีกหลายจุด ยังพบซากกระดูกสัตว์ ที่แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ฝังกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า การเข้าสำรวจในวันนี้ เพื่อตรวจสอบหาเพิ่มเติมจากที่ชาวบ้านพบ เนื่องจากก่อนนี้ตนได้ประสานกับทาง เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพยากรธรณี ส่งนักวิชาการเข้ามาตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างบางส่วนไปแล้ว ซึ่งผลการตรวจพบว่าเป็นกระดูกสัตว์ ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ตระกูลแรดชวา และไฮยีน่า อายุยังไม่แน่ชัด คาดว่าประมาณ 7 แสนปี อยู่ในยุคไพลสโตซีน ตอนกลางถึงตอนปลาย (Middle to Late Pleistocene) ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสำคัญ เพราะในแถบเอเชียไม่เคยพบแหล่งอาศัยของไฮยีน่ามาก่อน เพราะไฮยีน่ามีแหล่งอาศัยในทวีปแอฟริกา โดยตัวอย่างซากฟอสซิล ที่นักธรณีวิทยานำไปตรวจสอบเป็นกระดูกเขี้ยวของไฮยีน่า คาดว่าเป็นไฮยีน่าลายจุด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดุร้ายและทรงพลัง สามารถต่อสู้กับเสือดาวและสิงโตได้ สันนิษฐานว่าพื้นที่แห่งนี้ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นักล่าตระกูลไฮยีน่า
ขณะนี้ทางกรมทรัพยากรธรณี และผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาฯ มีแผนที่จะเข้ามาสำรวจซากดึกดำบรรพ์ในถ้ำต่ออีก 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-2566 และจะสำรวจทุกถ้ำใน อ.อ่าวลึกและละแวกใกล้เคียง คาดว่าจะพบซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากขึ้น
ขณะที่นายสามารถ ศรีกาญจน์ แพทย์ประจำ ต.อ่าวลึกเหนือ ซึ่งเป็นผู้สำรวจค้นพบ กล่าวว่า ก่อนนี้ตนและชาวบ้านในพื้นที่ ได้เข้าสำรวจถ้ำดังกล่าว เพราะต้องการดูว่าเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่ แต่พอสำรวจไปได้ระยะหนึ่งก็พบกับซากกระดูกดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย เชื่อว่ายังมีซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ที่ยังสำรวจไม่พบอีกมากภายในถ้ำ ตนอยากให้มีการสำรวจอย่างจริงจัง เพราะภูเขาแห่งนี้ยังมีโพรงถ้ำอีกหลายจุด ซึ่งในอนาคตจะผลักดันให้เป็นแหล่งธรณีกาลดึกดำบรรพ์ และพื้นที่อุทยานธรณีแห่งต่อไปของภาคใต้ ต่อจากจังหวัดสตูลต่อไป.-สำนักข่าวไทย