กรุงเทพฯ 21 ก.ย. – รมว.พลังงานสั่ง กฟผ.ศึกษานำยางพาราสตอกรัฐผลิตไฟฟ้า ย้ำต้องไม่กระทบค่าไฟฟ้าเอฟที ส่วนการประมูล บงกช-เอราวัณ พร้อมชี้แจงและเปิดประมูลตามกรอบเวลาที่กำหนด
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานให้กระทรวงพลังงานนำยางธรรมชาติในสตอกของรัฐ 100,000 ตัน จากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางมูลค่า 22,000 ล้านบาท ไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ว่า ได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการนำยางพาราไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งต้องรอผลการศึกษาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยปกติแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.เน้นเรื่องการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมใช้ถ่านหินไปบดและเผา ส่วนต้นทุนหากใช้ยางพาราไปผลิตไฟฟ้า ก็ได้หารือในรัฐบาลแล้วว่าจะต้องไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที ) หากต้นทุนเพิ่มขึ้นภาครัฐจะต้องหาเงินส่วนอื่นมาสนับสนุน เพราะหาก กฟผ.ใช้ยางพาราก็ต้องมีการซื้อเหมือนกับการซื้อเชื้อเพลิงทั่วไป
รมว.พลังงาน ยังกล่าวด้วยว่า พร้อมชี้แจงทุกภาคส่วนที่ออกมาคัดค้านการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) และ G2/61(แหล่งบงกช) ในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งรูปแบบนี้เป็นรูปแบบสากลและมีการประกาศไว้นานแล้ว โดยทางกระทรวงฯ พร้อมชี้แจงทุกฝ่ายหากเดินทางมาที่กระทรวงฯ โดยขอว่าอย่าไปชุมนุมจนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ซึ่งพร้อมชี้แจงทั้งวันที่ 24, 25 และ 26 กันยายนนี้
ส่วนวันที่ 25 กันยายนนี้ ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเปิดให้เอกชนผู้ยื่นประมูลมายื่นข้อเสนอตามกำหนดการที่วางไว้ โดยจะยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ และการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลจะพิจารณาเอกสาร หลักฐาน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐของผู้เข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ใช้เวลา 2 เดือนและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ คาดประกาศผลผู้ชนะการประมูลเดือนธันวาคม 2561 และจะมีการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2562
“การลงทุนทั้งบงกชและเอราวัณจะมีเงินลงทุนรวมนับแสนล้านบาท มีเวลาลงทุนนับสิบปี การคัดเลือกจะใช้เวลา 2 เดือน โดยพร้อมชี้แจงและเปิดเผยเหตุผลการคัดเลือก โดยทุกอย่างไปตามมาตรฐานสากล ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศและประชาชนมีก๊าซธรรมชาติใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่เหมาะสม” รมว.พลังงาน กล่าว
ทั้งนี้ ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) ทางกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงและค่าไฟฟ้าต่ำสุด จึงกำหนดข้อเสนอการพิจารณาการให้คะแนนราคาก๊าซฯ ในอัตราที่ไม่สูงกว่าราคาปัจจุบันเป็นสัดส่วนคะแนนร้อยละ 65 และที่เหลือร้อยละ 25 พิจารณาจากข้อเสนอส่วนแบ่งกำไรอีกร้อยละ 10 พิจารณาจากข้อเสนออื่น ๆ ขณะที่ข้อกำหนดด้านความมั่นคงได้กำหนดให้ผู้ผลิตรายใหม่ผลิตก๊าซฯ จาก 2 แหล่งรวมกัน ณ วันที่เริ่มสัญญาในปี 2565-2566 ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นเวลา 10 ปี จากปัจจุบันกำลังผลิตจาก 2 แหล่ง รวมกันอยู่ที่ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ส่วนการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานนั้น ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงใด เพราะยังต้องรอให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ ร่วมเป็นผู้พิจารณารายชื่อ.-สำนักข่าวไทย