กรุงเทพฯ 20 ก.ย. – สมาคมธนาคารไทยยืนยันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย เงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ชำระหนี้เพียง 50% พร้อมยกหนี้ที่เหลือให้
สมาคมธนาคารไทย ยืนยันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อยที่เป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เป็น NPL ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 และมีเงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท กู้ยืมเพื่อการเกษตร ให้ชำระหนี้เพียง 50% ของเงินต้น พร้อมยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ อีกทั้งให้ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับลูกหนี้จนถึง 30 มิถุนายน 2562 เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรยังคงมีที่ดินทำกินในการหาเลี้ยงชีพได้ต่อไป เผยอีกด้านหนึ่งยังคงต้องดูแลภาพรวมในการรักษาวินัยทางการเงิน และรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ของธนาคารและลูกค้าเงินฝากด้วยเช่นกัน
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า สมาคมธนาคารได้เข้ายื่นหนังสือยืนยันหลักเกณฑ์การรับชำระหนี้สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรที่มีข้อตกลงร่วมกับสมาคมธนาคารไทย โดยลูกหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกและขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เป็น NPL ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 มีเงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และมีวัตถุประสงค์กู้ยืมเพื่อการเกษตร สามารถชำระหนี้เงินต้นกับธนาคารสมาชิกเจ้าหนี้ 50% พร้อมยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ อีกทั้งให้ชะลอการดำเนินการทางกฏหมายกับลูกหนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรยังคงมีที่ดินทำกินในการหาเลี้ยงชีพได้ต่อไป
“มาตรการดังกล่าวธนาคารสมาชิกในสมาคมธนาคารไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยที่เดือดร้อนได้เป็นจำนวนมาก ส่วนข้อเรียกร้องของลูกหนี้เกษตรเพิ่มเติมในครั้งนี้คือต้องการให้ธนาคารสมาชิกรับชำระหนี้เงินต้น 50% ทุกวงเงิน พร้อมยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ โดยธนาคารสมาชิกได้พิจารณาเห็นว่าลูกหนี้เกษตรกรที่มีเงินต้นเกิน 2.5 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่ธนาคารสมาชิกได้ดูแลช่วยเหลือพิเศษเป็นรายกรณีอยู่แล้ว ซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย และบางรายมีเงินต้นจำนวนมากเกินกว่าการเป็นเกษตรกรรายย่อย” นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่รัฐบาลได้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ธนาคารสมาชิกในสมาคมธนาคารได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2549 ถึง เดือนกรกฎาคม 2561 ได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรผ่าน กฟก.ไปแล้วทั้งสิ้น 3,206 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,207 ล้านบาท และขณะนี้เหลือจำนวนลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยอีกเพียง 692 รายเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารสมาชิกได้ให้การดูแลช่วยเหลือในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยที่เดือดร้อนกลุ่มนี้มาชำระหนี้กับธนาคารโดยตรง ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงที่สมาคมธนาคารกับ กฟก. เห็นชอบร่วมกัน และ
นอกจากนี้สมาคมธนาคารได้มีการหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กฟก. อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการเร่งดำเนินการและหามาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้กลุ่มนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
“ที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยได้สนับสนุนการดำเนินนโยบายของภาครัฐและตระหนักถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเปราะบางในสังคมไทย โดยเฉพาะลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม สมาคมธนาคารไทยต้องดูแลรักษาวินัยทางการเงินในภาพรวมของทั้งประเทศ ผลประโยชน์และความเป็นธรรมโดยรวมของทุกฝ่ายควบคู่ไปด้วย” นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายครรชิต สุขเสถียร ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่มีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการสำรอง โดยจะเจรจากับเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ให้พิจารณาลดหย่อนหนี้เป็นรายบุคคล แล้วทำหนังสือแจ้งไปยังเกษตรกรลูกหนี้ หากมีความประสงค์ชำระหนี้ส่วนนี้จะให้มาแจ้งความจำนงที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการขอกู้เงินจากคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) โดยมีหลักเกณฑ์การชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี และหากชำระตรงเวลาจะลดดอกเบี้ยลงทุกปีจนคงที่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 – 5 เดือน.– สำนักข่าวไทย