กระทรวงคลัง 19 ก.ย. – กอช.ส้มหล่นจากแผนชดเชยแวต คลังแนะผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เข้าข่าย 6 ล้านคน สมัครสมาชิก พร้อมขยายร้านค้าทั่วไปติดตั้งระบบรับบัตรสวัสดิการซื้อสินค้าปูทางรายย่อยรับชดเชยภาษี ยืนยันเงินกองทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาทยังเพียงพอดูแลรายย่อย
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยการใช้ข้อมูลจากฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ถือบัตรฯ ยังต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อชำระสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 1 ก่อน ส่วนที่เหลือร้อยละ 6 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกร้อยละ 5 โอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนเป็นวันทำการก่อนวันหยุด
ส่วนที่ 2 อีกร้อยละ 1 ของวงเงินชดเชยทั้งหมดจะโอนเข้าบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขณะนี้ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ มีคุณสมบัติเข้าข่ายสมัครเป็นสมาชิก กอช. 6 ล้านคน หากรายใดมีสิทธิ์มีคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัครสมาชิก กอช. แต่ยังไม่ได้สมัครให้รีบสมัครได้ทันที เพื่อรองรับการโอนเงินของรัฐบาลเข้าบัญชี ส่วนที่เหลือ 5 ล้านราย สำหรับผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก กอช. กระทรวงการคลังจะหารือกับสมาคมธนาคาร เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนเหมาะสม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี เพื่อฝากเงินระยะ 3-5 ปี หากมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วค่อยมาสมัครเป็นสมาชิก กอช.ภายหลัง หลังจากนี้ กอช.ต้องจัดทำแผนดึงประชาชนสมัครเป็นสมาชิก กอช.
สำหรับการชดเชยเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย ยอดรวมไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยใช้ข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นฐานคำนวณ เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562 โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม 5,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เป็นการคืนภาษีให้ชาวบ้าน เพราะทุกคนต้องร่วมกันเสียภาษี โดยต้องใช้บัตรสวัสดิการฯ เพื่อซื้อสินค้าผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่อง EDC นอกจากนี้ ยังพร้อมขยายให้ร้านค้าทั่วไป ทั้งร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (POS) และมีเครื่องคิดเงินชำระสินค้าเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมสรรพากรและกรมบัญชีกลางเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ผู้ถือบัตรได้ใช้เงินซื้อสินค้าและได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล โดยติดป้ายและสติกเกอร์ชัดเจนให้ผู้ถือบัตรสังเกตเห็นชัดเจน เพื่อให้มีร้านค้ารองรับโครงการได้อย่างเพียงพอ และยังส่งเสริมให้ร้านธงฟ้าประชารัฐจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
สำหรับในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.60 – ส.ค.61) พบว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ 128 ล้านครั้ง เป็นเงิน 38,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 99 ของจำนวนเงินการใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 38,535 ล้านบาท นับว่าช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและแบ่งเบาค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยระดับหนึ่ง . – สำนักข่าวไทย