ดินแดง 19 ก.ย.-รมว.แรงงาน สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด่วน กรณีโกงเงินคนพิการ สูญเงินกว่า 1.5 พันล้าน คาด 15 วันรู้ผล
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการตามมาตรา 33 ที่กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการ แต่ปรากฏว่าตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับสิทธิของคนพิการจริง และมาตรา 35 ที่เกิดการทุจริตในส่วนของการฝึกอบรมให้กับคนพิการ ซึ่งสร้างความเสียหายถึง1,500 ล้านบาทต่อปี ว่า ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน มีหน้าที่ดูแลเรื่องของจัดหางานให้กับคนพิการได้มีงานทำตามมาตรา 33 ซึ่งคนพิการในระบบที่มีสิทธิทำงาน มีทั้งหมด 64,000 คน ได้ทำงานแล้ว 36,000 คน และมีคนพิการขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน 1,979 คน ซึ่งได้บรรจุงานไปแล้ว 1,565 คน
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า สถานประกอบใดที่ไม่ได้จ้างงานคนพิการจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) โดยตรง เป็นเงิน 109,500 บาทต่อคนต่อปี โดยไม่ผ่านกระทรวงแรงงาน และหากสถานประกอบการไม่ส่งเงินเข้ากองทุน จะต้องนำเงินจำนวนนี้มาส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งการฝึกอบ จัดสถานที่ขายของให้กับคนพิการ เป็นต้น โดยสถานประกอบการจะต้องเขียนโครงการ รายละเอียดทั้งหมด รวมถึงรายชื่อของผู้พิการที่ได้รับการอบรม เพื่อให้กรมการจัดหางานอนุมัติ ซึ่ง พก.จะพิจารณา 3 ประเด็น 1.สิทธิที่ให้แก่คนพิการครบถ้วนตามหลักเกณฑ์หรือไม่ 2. มูลค่าของสิทธิที่ให้แก่คนพิการเป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบหรือไม่ และ 3. คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการสามารถรับสิทธิที่ให้แก่คนพิการเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ หากครบถ้วนถูกต้อง กรมการจัดหางาน ก็จะเห็นชอบและจะแจ้งมาที่กรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ว่าสถานประกอบการแห่งนั้น ได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการแล้วจำนวนกี่คน ชื่ออะไรบ้าง ซึ่ง พก.จะบันทึกเข้าระบบฐานข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมายไว้ และไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน แต่ถ้าหากพบข้อสงสัย พก.จะส่งกลับให้ กรมการจัดหางานตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมายืนยัน ที่ผ่านมาไม่พบความผิดปกติ ทางเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบทุกโครงการที่อนุมัติอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นหากมีการร้องเรียนมาข้างต้น กระทรวงแรงงาน จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จในส่วนที่กระทรวงแรงงานรับผิดชอบอย่างละเอียด คาดมีความคืบหน้าภายใน 15 วันนับจากนี้เป็นต้นไป .-สำนักข่าวไทย