เชียงราย 17 ก.ย. – กรมธนารักษ์เดินหน้าผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อสร้างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ยืนยันไม่เรียกคืนเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ 9 ออกจากระบบ พร้อมปรับระบบจองเหรียญผ่านออนไลน์ลดปัญหาต่อแถวรอคิวทั้งวัน
นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า โรงกษาปณ์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ 10 จำนวน 9 ชนิดราคา นำออกใช้หมุนเวียนในระบบ 615 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของเหรียญกษาปณ์ทั้งหมด 30,000 ล้านเหรียญ หรือมูลค่า 60,000 ล้านบาท ยืนยันว่าจะไม่มีการเรียกคืนเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ 9 ออกจากระบบ เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายเหมือนเดิมหรืออาจเก็บสะสมไว้ โดยจะปล่อยให้เหรียญหมดสภาพตามอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี จากนั้นจึงผลิตเหรียญใหม่ของรัชกาลที่ 10 เข้ามาทดแทนเหรียญเก่าที่ชำรุด สำหรับแผนการผลิตปี 2561 มีแผนผลิตเหรียญ 2,853 ล้านเหรียญ และในปี 2562 กำหนดผลิตเพิ่ม 3,000 ล้านเหรียญ ทดแทนเหรียญเก่าที่หมดสภาพแต่ละปี
นางสาวอมรรัตน์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์เตรียมวางระบบการจองเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เมื่อมีพระราชพิธีหรือในโอกาสสำคัญ เพื่อลดปัญหาการต่อแถวยาวเหยียดมาจับจองพื้นที่รอคิวตั้งแต่เที่ยงคืนตากแดดตากร้อนรอคิวกันทั้งวัน ปรับมาใช้ระบบจองผ่านออนไลน์ของกรมธนารักษ์ เพื่อส่งมอบเหรียญตรงถึงบ้าน มอบหมายให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้จัดทำระบบจองเหรียญ นอกจากนี้ ยังจัดรถโมบายเริ่มออกพื้นที่ปลายนี้กระจายออกไปทั้ง 6 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ออกตระเวนให้ชาวบ้านแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนกับชาวบ้าน เพื่อแลกเหรียญเก่าเปลี่ยนเป็นธนบัตรเอาไว้ใช้จ่าย เป้าหมายให้ได้ 46 ล้านเหรียญต่อคันต่อปี
สำหรับการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ราชพัสดุ หลายโครงการขนาดใหญ่สำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาหมอชิต หลังจากเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2539 ได้เจรจากับภาคเอกชนรายเดิม ด้วยการปรับรูปแบบการลงทุนเพิ่มจาก 18,000 ล้านบาท เป็น 26,000 ล้านบาท พื้นที่พัฒนา 800,000 ตารางเมตร นำส่งชดเชยคืนให้กับรัฐใช้ประโยชน์ 120,000 ตารางเมตร พร้อมมอบผลตอบแทนเป็นเงินสด 600 ล้านบาท และทรัพย์สินมูลค่า 2,400 ล้านบาท รวมเป็น 3,000 ล้านบาท เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบสัปดาห์หน้า เพื่อลงนามก่อสร้างกับภาคเอกชนรายเดิมใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี พัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ศูนย์การค้า โรงแรม ที่จอดรถรองรับการเดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอส อพาร์ทเม้นท์
ส่วนการพัฒนาหอชมเมือง มูลค่า 4,600 ล้านบาท ความสูง 459 เมตร นับเป็นหอชมเมืองสูงสุดในประเทศ ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ระยะเวลาบริหารโครงการ 30 ปี เปิดให้เอกชนลงนามก่อสร้างไปแล้ว เพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ โครงการร้อยชักสามอยู่ตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยากับหอชมเมืองกรุงเทพฯ ขณะนี้ กทม.และตำรวจดับเพลิงได้ส่งมอบที่ราชพัสดุคืนให้แล้ว จึงปรับสัญญาการลงทุนกับภาคเอกชน ปรับเวลาก่อสร้างเป็น 6 ปี บวกกับสัญญาบริหารโครงการ 30 ปี คาดว่าจะเป็นโรงแรมที่พักริมแม่น้ำเจ้าพระยาระดับหรู เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว
ขณะที่การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ส่งพื้นที่ราชพัสดุให้กับสำนักงานอีอีซี 7,000 ไร่ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 6,500 ไร่ และเขตนวัตกรรม 759 ไร่ เพื่อมอบให้สำนักงานอีอีซีนำไปบริหารจัดการต่อตามอำนาจกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องการมอบเอกสิทธิ์บริหารจัดการทั้งหมด แล้วแต่จะมอบหมายให้หน่วยงานหรือเอกชนรายใดเข้าดำเนินการ กรณีที่สำนักงานอีอีซีจะทำการเจรจากับซีพีใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างไร เป็นการหารือข้อตกลงโดยกรมธนารักษ์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง
สำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน หลังจากกรมธนารักษ์ลดค่าเช่าเชิงพาณิชย์จากเดิม 2,400 บาทต่อไร่ต่อปี เหลือ 2,100 บาทต่อไร่ต่อปี สำหรับจังหวัดมุกดาหาร ส่วนจังหวัดหนองคายค่าเช่าลดเหลือ 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนเข้ามาตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำหนดไว้ จึงเตรียมเปิดพัฒนาในจังหวัดนราธิวาสเพิ่มเติม และใช้ราคาใหม่ประมูล คาดว่าจะมีเอกชนเข้ามายื่นประมูลทั้ง 10 เขตเศรษฐกิจมากขึ้น
ส่วนการพัฒนาโครงการศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะโซน C พื้นที่ 510,000 ตารางเมตร มีส่วนราชการ 13 หน่วยงานแสดงความจำนงเช่าพื้นที่ และยังมีอีก 3-4 หน่วยงานขอลงชื่อสำรอง เพื่อขอเช่าอีก 30,000 ตารางเมตร ด้วยวงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์จะใช้แนวทางการระดมทุนแบบผสมทั้งการกู้เงินในประเทศ เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำและการทำซีเคียวริไทเซชั่นอีกทางหนึ่ง เพื่อพัฒนาพื้นที่สำหรับส่วนราชการให้เพียงพอ. – สำนักข่าวไทย