น่าน 15 ก.ย.-เกษตรกรใน จ.น่าน ประสบความสำเร็จในการทำไร่ข้าวโพดแบบลดการใช้สารเคมี ซึ่งนอกจากเพิ่มกำไรให้ตัวเองแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นปัญสิ่งแวดล้อมสำคัญของ จ.น่าน
ไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตาในพื้นที่ ม.5 ต.บ้านฟ้า อ.บ้านหลวง จ.น่าน ใช้วิธีการผลิตแบบลดต้นทุน และใช้สารเคมีน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดถึง 7.5 เท่า
ผู้ใหญ่บรรจง เจ้าของสูตร ใช้เวลาหลายปีในการคิดค้นจนได้สูตรกำจัดวัชพืช จากน้ำหมักชีวภาพสูตรพิเศษที่ผลิตขึ้นใช้เองจากของเหลือในบ้าน ผสมกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปริมาณเพียง 330 ซีซี จากทั่วไปที่ต้องใช้ถึง 2.5 ลิตร ทำให้ต้นทุนลดลงเหลือกิโลกรัม 1.79 บาท ใช้ฉีดพ่นต้นข้าวโพด 2 ครั้ง /3 เดือนเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่าย ได้กำไรไร่ละ 4,000 กว่าบาท
เกษตรอำเภอบ้านหลวงขยายผลจากความสำเร็จของผู้ใหญ่บรรจงไปทั่วอำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 11,000 ไร่ เพียงปีแรกลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นต้นทุนสูงสุดในการทำไร่ข้าวโพดลงได้กว่า 3,000 ลิตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 450,000 บาท ที่สำคัญดินและคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำชุมชนกลับมาในอยู่ระดับมาตรฐานความปลอดภัย
ในขณะที่การปลูกข้าวโพดทั้งจังหวัดอีกกว่า 400,000 ไร่ ยังคงใช้สารเคมีในปริมาณมาก จนมีการปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำธรรมชาติในระดับที่เกิดผลกระทบกับประชาชน โดยกรมควบคุมมลพิษเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจวิเคราะห์ล่าสุด พบการปนเปื้อนของเคมีเกษตร 3 ชนิดที่ใช้กำจัดศัตรูพืช คือ ไกลโฟเซต พาราควอต และอะทาซิน ในปริมาณสูงต่อเนื่อง
ภาครัฐตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามและแก้ปัญหา โดยเตรียมรณรงค์ให้เกษตรกรทั่วทั้งจังหวัดเปลี่ยนมาทำไร่ข้าวโพดแบบลดสารเคมี ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์เรื่องรายได้แล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเอง ซึ่งปัจจุบันพบมีสารตกค้างในเลือดในระดับเสี่ยง 7,800 คน หรือร้อยละ 39 และระดับไม่ปลอดภัย 3,800 คน.-สำนักข่าวไทย