กรุงเทพฯ 13 ก.ย. – จีพีเอสซีเดินสายแจงลูกค้าโกลว์ สัญญาดูแลไม่เปลี่ยนแปลง รอ กกพ.ปลายเดือนนี้ถึงกลางเดือนหน้าว่าจะชี้ขาดอย่างไร และรอลุ้นไทยออยล์เห็นชอบลงทุนโรงไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ป้อนโครงการซีเอฟพี ขยายกำลังกลั่นที่จะเริ่มกลางปีหน้าหรือไม่
นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี กล่าวว่า ขณะนี้พยายามเข้าพบลูกค้าของโรงไฟฟ้าบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW เพื่อให้มีความเข้าใจว่าแม้ว่าจีพีเอสซีจะซื้อหุ้นโกลว์แล้วการดำเนินธุรกิจทุกอย่างยังเหมือนเดิม เงื่อนไข สัญญาราคาและการบริการลูกค้าทุกราย จะยังคงดำเนินการภายใต้กรอบสัญญาเดิมทุกประการ
“ขณะนี้พยามยามทำความเข้าใจ ทั้งกลุ่มร่วมทุนเอสซีจี กลุ่ม DOW CHEMICAL และอีกหลายราย ว่าการรวมกันเป็นการสร้างเสถียรภาพด้านไฟฟ้าให้กับผู้ลงทุนและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่งผลดีทั้งต่อลูกค้า และจีพีเอสซี” นายเติมชัย กล่าว
นายเติมชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จะยังไม่ทราบว่าทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตัดสินออกมาอย่างไร แต่ก่อนดำเนินการทางจีพีเอสซีก็ดูทุกอย่างรอบคอบที่สุดแล้ว
ทั้งนี้ จีพีเอสซีได้ยื่นต่อ กกพ. เพื่อขอเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าจากโกลว์เป็นจีพีเอสซี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ตามกฎหมายจะครบ 90 วันในสิ้นเดือนกันยายนนี้ และ กกพ.สามารถขยายเวลาการพิจารณาได้อีก 15 วัน ซึ่งจะเท่ากับสิ้นสุดการพิจารณาในกลางเดือนตุลาคม 2561
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามที่จีพีเอสซี ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) วันนี้เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างลงทุนจะเสร็จประมาณปี 2563 ประกอบด้วย 2 โครงการ ขยายกำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์และไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง ที่จ.ระยอง และการร่วมทุนอีกร้อยละ 30 กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 60 เมกะวัตต์และไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าป้อนการขยายกำลังผลิตของ บมจ.ไทยออยล์ ในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) กำลังผลิต 250 เมกะวัตต์ ทางจีพีเอสซียังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของไทยออยล์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นเสนอผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 2 ราย
ทั้งนี้ โครงการซีเอฟพีของไทยออยล์ผ่านการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบอร์ดบีโอไอวันนี้เช่นกัน เป็นโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดิบจากเดิมที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยโครงการใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี วงเงินลงทุนประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทฯ มีแนวทางเพิ่มเติมในการจัดหาผู้สนใจลงทุนในหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) ทำให้วงเงินลงทุนลดลงเป็นไม่เกิน 4,174 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการขณะนี้อยู่ระหว่างการเจราจากับผู้รับเหมาคาดว่าจะลงนามสัญญาและเริ่มดำเนินการได้กลางปี 2562 และโครงการก่อสร้างเสร็จสิ้นภายในปี 2566. – สำนักข่าวไทย