ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอร์รั่ม 12 ก.ย.-“วิษณุ” ระบุการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดหลังการเลือกตั้งระดับชาติ คาดกฎหมายลูก ส.ว.-ส.ส.ประกาศใช้กลางสัปดาห์นี้ ย้ำแผนยุทธศาตร์ชาติมีความสำคัญกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ “การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการพัฒนาเทศบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” โดยกล่าวขอบคุณสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทยที่หยิบยกเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาลได้รับทราบแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาประเทศ ซึ่งแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี เปรียบเสมือนการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ 4 ฉบับมาเรียงต่อกัน บางคนมองว่าแผนยุทธศาตร์ชาติยาวนานเกินไป อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่หลายประเทศก็มีแผนยุทธศาตร์ชาติเพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้หลังแผนยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้ ทุกหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาตร์ชาติ และต้องปฏิบัติตามไปอีก 20 ปี คาดว่าแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี จะประกาศใช้ได้ช่วงเริ่มปีงบประมาณใหม่นี้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ประเทศจำเป็นต้องมียุทธศาตร์ชาติมากำหนดเป้าหมายประเทศว่าจะไปทิศทางไหน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดอย่างเป็นทางการ ทำให้เมื่อเปลี่ยนผู้นำ จึงไม่มีการสานต่อ จนสร้างความสับสนให้กับนักลงทุน ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา ทั้งนี้หลังประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ต้องจัดทำแผนแม่บทภายใน 2-3 เดือน เมื่อทั้งสองส่วนแล้วเสร็จ ก็จะมีผลผูกพันประเทศ ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องเอาใจใส่ เพราะหากไม่ดำเนินตาม จะมีความผิดจนนำไปสู่การฟ้องร้องตามกฎหมายได้ ส่วนการปฏิรูปประเทศนั้น ไม่ใช่เพราะ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากปฏิรูป แต่เป็นเพราะประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการปฏิรูป อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญจึงกำหนดแนวทางการปฏิรูป 11 ด้าน เพื่อให้ทุกรัฐบาลทำการปฏิรูป ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้เวลา
จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เทศบาลกับการเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น” โดย นายวิษณุ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มี 6 รูปแบบ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) , เทศบาล , องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) , กรุงเทพมหานคร , เมืองพัทยา , รูปแบบอื่นๆ ซึ่ง อปท.ทั้งหมด เทศบาลถือมีความสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่บทบาท แต่มีการก่อตั้งที่ยาวนานมาตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ
“การเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นกำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เพราะในกลางสัปดาห์นี้ กฎหมายลูก ส.ว.และ ส.ส. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กฎหมายลูก ส.ส.ต้องทอดเวลาบังคับใช้ไปอีก 90 วัน ซึ่งจะมีผลบังใช้ในกลางเดือนธันวาคม โดยในช่วง 90 วัน กกต.จะแบ่งเขตเลือกตั้ง 60 วัน อีก 30 วันให้แต่ละพรรคสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง คสช.จึงคลายล็อคเพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่กกฎหมายลูก ส.ส.ประกาศใช้ ส่วนจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ย้ำว่ากฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน หลังกฎหมายลูก ส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งแปลว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2562 แต่ถ้าจะจัดการเลือกตั้งภายในกรอบ 60 วัน ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ฝ่ายการเมืองมองว่าระยะเวลาไม่เพียงพอ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดหลังกฎหมายลูกท้องถิ่นแล้วเสร็จ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมายแล้ว และจะส่งให้สภาฯ พิจารณาในสัปดาห์หน้า คาดใช้เวลาพิจารณา 2 เดือน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้อีก 90 วัน ซึ่งอาจใกล้เคียงกับการเลือกตั้งระดับชาติ
“โดยก่อนหน้านี้ กกต.เคยหารือว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเลือกเมื่อใดก็ได้ แต่อยากให้เว้นระยะห่างจากการเลือกตั้งระดับชาติ 3 เดือน เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก ดังนั้นหากมองตามโรดแมป การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ แม้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเลือกบางส่วนก่อน แต่ส่วนตัวมองว่าไม่น่าเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้งนี้ในกฎหมายลูกท้องถิ่น กำหนดว่าให้ คสช. เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าท้องถิ่นมีความพร้อมหรือยัง จึงจะแจ้งไปยัง กกต.ให้เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง แต่หากมีการเลือกตั้งระดับชาติและได้รัฐบาลใหม่ ก็จะไม่มี คสช. โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาแทน” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย