สธ.11 ก.ย.-สธ.รับความเห็นข้อเสนอพยาบาล กรณีเสนอปรับแก้ประเภท จากปัญหาร่าง พ.ร.บ.ยา คาดยังต้องหารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังจาก สธ.และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ร่วมหารือกับสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาล สมาคมผู้บริหารสภาการพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) สภาพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ผู้ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ร่วม 10 หน่วยงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ แทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ว่า โดยหลักการในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ยานั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องกันว่ามีประโยชน์กับประเทศ แต่จะมีประเด็นที่มีความเห็นต่างใน 2 ข้อ คือ 1.ในมาตรา 22(5) ที่กำหนดให้การจ่ายยา ซึ่งขอย้ำว่าการจ่ายยากับการขายยาไม่เหมือนกัน ซึ่งทางพยาบาลเสนอให้มีการอนุญาตให้พยาบาลจ่ายยาได้ด้วย และ 2.การแยกประเภทยา นิยามตามมาตรา 4 ที่เดิมกำหนดให้มี 3 ประเภท แต่พยาบาลเสนอว่าหากจะให้การทำงานของพยาบาลมีความเป็นไปได้ก็ต้องแยกเป็น 4 ประเภท
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า จากการหารือ ตนจะนำเรื่องเสนอและหารือกับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะสรุปข้อเสนอเป็น 3 ข้อ คือ 1.ในมาตรา 22(5) 2.มาตรา 4 และ3.ในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินวิกฤติให้พยาบาลสามารถให้ยาเพื่อช่วยชีวิตได้
ส่วนที่ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันกับกลุ่มเภสัชกรที่มีการหารือกันก่อนหน้านี้ ทั้งมาตรา22(5)และเรื่องการแบ่งประเภทยา ทางออกจะต้องทำอย่างไร รองปลัด สธ.กล่าวว่า ขั้นตอนการออกกฎหมายนั้นต้องมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อเห็นชอบในหลักการ พอครม.เห็นชอบก็จะต้องส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องไปหารือก่อนส่งเข้าครม.อีกครั้ง ดังนั้นกว่าจะออกออกเป็นกฎหมายต้องใช้เวลาอีกนาน โดยความเห็นที่ต่างกันก็จะต้องเชิญผู้ที่เห็นต่างมาหารือกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนส่ง ครม. อีกครั้งแต่คาดว่าจะต้องหารือกันให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้
ส่วนกรณีสำนักโพลแห่งหนึ่งสำรวจความเห็นประชาชนและพบว่าประชาชนยังมีความมั่นใจให้เภสัชกรจ่ายยาและยังไม่มั่นใจในวิชาชีพอื่นนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยหลักการก็เห็นพ้องกันว่าแต่ละวิชาชีพมีความเชี่ยวชาญต่างกัน แต่ในบริบทความเป็นจริงในสถานการณ์ที่อยู่ชายแดน ยังไม่สามารถหาวิชาชีพไปอยู่ได้ครบ ดังนั้นเพื่อเกิดประโยชน์ก็ให้วิชาชีพอื่นจ่ายแทนได้ ปรับตามสภาพความเป็นจริงซึ่งต้องหารือกัน
ส่วนการจ่ายยาในภาวะวิกฤติ เช่น ใน รพ.สต.ก็ให้เป็นหน้าที่พยาบาลเพื่อบรรเทาและรักษาให้ผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤติเป็นต้น ซึ่งสิ่งที่พยาบาลต้องการคือมีการคุ้มครองการทำงานให้ถูกต้องปลอดภัยตามกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย