กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – “ชาญศิลป์” ซีอีโอ ปตท.คนที่ 9 ประกาศนโยบาย “CHANGE” รับมือบทบาทฟอสซิลลดลง ยืนยันรับฟังคนวิจารณ์ ปตท. แต่ขอให้อยู่บนเหตุและผล พร้อมตั้งรองด้าน GRC ปรับขบวนการทำงานกลุ่ม ปตท.ป้องกันปัญหากลโกงในอนาคต
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนใหม่คนแรกที่จบด้านเศรษฐศาสตร์ไม่จบด้านวิศวะ กล่าวว่า เรื่องการศึกษาไม่ว่าจะจบสถาบันใด ไม่มีผลการทำงาน เพราะการทำงานใน ปตท.ทำร่วมกันเป็นทีมและแนวคิดในการบริหารจัดการ ในระยะเวลาประมาณ 2 ปีนับจากนี้จะสานต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ ปตท.ที่ได้วางไว้จากรุ่น สู่รุ่น โดยปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความท้าทายต่าง ๆ ทั้งปัจจุบันและอนาคตผ่านนโยบาย “CHANGE for Future of Thailand 4.0” รับมือการเปลี่ยนด้านดิจิทัล disruptive technology ทำให้การใช้ฟอสซิลจะลดน้อย ดังนั้น ปตท.ต้องปรับตัวไปสู่เรื่อง smart (นำAI,ดิจิทัล,การสานต่อEECI ) การลงทุนด้านพลังงานที่จะไปพิจารณาเรื่องพลังงานทดแทน-ระบบสำรองไฟฟ้า (Energy Storage) มูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า (Electric Value chain ) และธุรกิจด้านชีวภาพต่อยอดพืชเกตร เช่น อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งในการปรับตัวนี้ก็ทำให้ ปตท. ลงทุนทั้งด้าน EECI, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งขณะนี้เจรจาผู้ร่วมทุน 2 รายในไทยทั้งกลุ่มลงทุนรถไฟลอยฟ้าและรถไฟใต้ดิน
สำหรับนโยบาย “CHANGE for Future of Thailand 4.0” มีองค์ประกอบ 6 ด้าน ได้แก่ 1.Continuity สานต่อเพื่อความต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินธุรกิจแบบ 3D คือ Do now, Decide now และ Design now 2.Honesty ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม ผู้บริหารและพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และดำเนินการอย่างมีจริยธรรมนำธุรกิจ คำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล 3. Alignment ขยายความร่วมมือ เพิ่มความมั่นคงและยั่งยืน ใช้ความเข้มแข็งจากภายใน ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. สร้างพลังร่วมเพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญ กระจายโอกาสการเติบโตออกสู่สังคมภายนอก
4.New Innovation Solution สร้างสรรค์สิ่งดีและสิ่งใหม่ หาธุรกิจที่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จใหม่ (New S-Curve) ของ ปตท. โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนว ความคิดใหม่ มาสรรค์สร้างให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ 5.Good Governance กำกับดูแลดี มีประสิทธิภาพ ยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส เที่ยงตรง เป็นธรรม และตรวจสอบได้ โดยปรับปรุงบทบาทในการกำกับดูแลบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมให้มีประสิทธิผลมากขึ้นและคำนึงถึงผลประโยชน์ภาพรวมของกลุ่ม ปตท. ตลอดทั้งสายโซ่ธุรกิจ เพื่อรักษาความมั่นคงและมั่งคั่งทั้งในเรื่องของธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีที่สำคัญกับประเทศต่อไป และ 6.Excellence Team Work สร้างคนรุ่นใหม่ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งพัฒนาพนักงานทุกรุ่นให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม มีศักยภาพ ความกล้า และพร้อมรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนกล้าที่จะก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ
“จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต ปตท.จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการดำเนินงาน โดยยึดหลักหลักธรรมาภิบาล มุ่งเป็นองค์กรตัวอย่างของประเทศไทย ร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่วางไว้ และสอดรับกับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศภายใต้ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งจะนำพาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชน สังคม และประเทศ โดย ปตท.มีเป้าหมาย คือ ปตท.ต้องเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน” นายชาญศิลป์ กล่าว
ทั้งนี้ ปตท. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้าน (3P) อย่างสมดุล คือ การทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม (People) การอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน (Prosperity) เป็นประเทศไทยก้าวหน้าและมีความสุขต่อไป
โดยในเรื่องของความโปร่งใส ปตท.ได้แต่งตั้งตำแหน่งใหม่ โดยให้นายกฤษณ์ อิ่มแสง ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กรและความยั่งยืน มาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ (GRC) ซึ่งจะดูเรื่องธรรมาภิบาล การสื่อสาร การกำกับดูแลกิจการ ทั้ง ปตท. และบริษัทในเครือ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีสตอกปาล์มของบริษัท โกลบอล กรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีจีซี (GGC) , ปัญหาการลงทุนปาล์มในอินโดนีเซีย และการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์
“ปตท.จำเป็นต้องมีรายได้ที่ดี ผ่าน 6 กลุ่มบริษัทที่เป็น FLAG SHIP ซึ่งมีหลายธุรกิจรองรับราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลง และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และนำรายได้ไปดูแลสิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งกรณีมีคำถามของสังคมหลากหลายด้าน ปตท.ก็เคารพทุกความคิดเห็น แต่ก็ขอให้นำข้อเท็จจริงมาถกกัน อย่าใช้ความรุนแรง โดยรัฐธรรมนูญให้ทกุคนมีเสรีภาพ แต่ก็ไม่ควรสร้างความเกลียดชัง หรือใช้ความรุนแรง และละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น” นายชาญศิลป์ กล่าว. – สำนักข่าวไทย