บุรีรัมย์ 9 ก.ย.-รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการนำวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-นวัตกรรม มาใช้ในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพผ้าทอพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดบุรีรัมย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น
ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะและอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของกลุ่มสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย หมู่บ้านเจริญสุข ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ และกลุ่มทอผ้าไหมบ้านปะทัดบุ อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับ OTOP ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ในการร่วมกันพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าหรือสิ่งทอพื้นถิ่นของจังหวัดบุรีรัมย์
สำหรับกลุ่มสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย หมู่บ้านเจริญสุข และกลุ่มทอผ้าไหมบ้านปะทัดบุ ก่อนหน้านี้ได้รับการถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการย้อมสีผ้าโดยเน้นสีธรรมชาติที่ไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกแบบลวดลาย และแปรรูปแก่กลุ่มผู้ผลิต ก็พบว่ามีการพัฒนาทั้งสี ลวดลายที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการดำเนินโครงการในระดับหนึ่ง
ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า โครงการยกระดับ OTOP ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการดำเนินการในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ประเภทผ้า สิ่งทอพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนากระบวนการผลิต และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย