กรมชลประทาน 5 ก.ย.-กรมชลประทาน ปรับลดน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน หลังปริมาณน้ำเหนือมีแนวโน้มลดลง ลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง
พบว่าแนวโน้มปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนเริ่มลดลง ส่งผลให้วันนี้(5 ก.ย. 61) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์
มีน้ำไหลผ่าน 1,084 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลดลงจากวันที่ 4
กันยายน 58 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ
5 เมตรกรมชลประทาน
จึงได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โดยปรับลดการรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออก ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์จาก 140 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือ 90 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ส่วนฝั่งตะวันตกปรับลดการรับน้ำเข้าทางประตูระบายน้ำพลเทพ ลงสู่แม่น้ำท่าจีน จาก 140 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือ 120 ลูกบาศก์เมตร./วินาที
ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ได้ลดน้ำไหลผ่านจาก 820 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีเหลือ
800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้านท้ายเขื่อนลดลงตามไปด้วย ประกอบกับได้มีการปรับลดการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงแล้ว
กรมชลประทาน
จะได้ปรับแผนการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับการระบายน้ำของเขื่อนทั้ง
2 แห่งในระยะต่อไป
เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยาให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ได้มีการประสานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบแผนการระบายน้ำล่วงหน้าแล้ว
การปรับลดการระบายน้ำดังกล่าว
ก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองชัยนาท-ป่าสัก ในเขต จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท่าจีน
ในเขต จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้านี้ ทำให้ระดับน้ำลดลงประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น
กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ บริเวณแม่น้ำท่าจีนในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี
อำเภอสองพี่น้อง 12 เครื่อง, จังหวัดนครปฐม อำเภอบางเลน
16 เครื่อง นครชัยศรี 31 เครื่อง และสามพราน
จำนวน 22 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 81 เครื่อง
พร้อมกันนี้ ได้บูรณาการทำงานร่วมกับ.
ผู้ว่าราชการจังหวัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทหาร
และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
ในการเข้าไปช่วยเหลือและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่ประกอบกิจการหรืออาศัยอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและ แม่น้ำท่าจีน
ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด–สำนักข่าวไทย