อสมท 5 ก.ย. -ไต้ฝุ่น “เชบี” ขึ้นฝั่งที่เกาะชิโกกุ ของญี่ปุ่น ด้วยสถิติความเร็วลมศูนย์กลางสูงสุดในรอบ 25 ปี แต่ทำไมขึ้นฝั่งที่ญี่ปุ่นแล้วถึงมีชื่อเป็นภาษาเกาหลี แล้วไต้ฝุ่น คือ พายุอะไร ระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงใด เคยขึ้นฝั่งที่ไทยหรือไม่ วันนี้สำนักข่าวไทย รวบรวมข้อมูลมาฝากกัน
ไต้ฝุ่น “เชบี” มาจากภาษาเกาหลีแปลว่า นกนางแอ่น ขึ้นฝั่งที่เกาะชิโกกุ ทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น เมื่อวานนี้(4 ก.ย.) ก่อนเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าภูมิภาคคันไซทางภาคกลาง โดยพายุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วลมสูงสุด 216 กม./ชม. ความเร็วลมศูนย์กลางสูงสุดที่ 162 กม./ชม. เป็นไต้ฝุ่นรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2536 ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 คน บาดเจ็บกว่า 300 คน
อ่านข่าว >>เตือนญี่ปุ่นฝนตกหนักต่อในวันนี้หลังเชบีทำคนตายแล้ว 9 คน
ไต้ฝุ่นเชบี ขึ้นฝั่งที่ญี่ปุ่น แต่ทำไมชื่อชื่อเป็นภาษาเกาหลี
คณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) จัดระบบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2543 โดยให้แต่ละประเทศ (หรือดินแดน) ทั้งสิ้น 14 แห่ง ที่เป็นสมาชิก ส่งชื่อพายุในภาษาของตนเองมาให้ประเทศละ 10 ชื่อ ซึ่งรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกมี 140 ชื่อ นำมาแบ่งเป็น 5 ชุดหลัก ชุดละ 28 ชื่อ เรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย โดยไทยอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง จะเห็นว่า “เชบี” อยู่ในแถวที่ 25 ใน คอมลัมน์ที่ 1 (ตามภาพด้านล่าง) แสดงว่า พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดก่อนหน้านี้ ชื่อว่า ซีมารอน และพายุลูกต่อไปที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก จะใช้ชื่อว่า “มังคุด” ซึ่งอยู่ในลำดับถัดไป โดยไม่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดหรือประเทศที่พายุขึ้นฝั่งแต่อย่างใด หากพายุลูกใดมีความรุนแรงและสร้างความหายนะมากเป็นพิเศษก็ให้ปลดชื่อพายุลูกนั้นไป แล้วตั้งชื่อใหม่เข้าไปในรายการชื่อแทน
ไต้ฝุ่น คืออะไร
พายุไต้ฝุ่น เป็นพายุหมุนเขตร้อนความเร็วลมสูงสุด เกิดในบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ มีความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางพายุตั้งแต่ 118 กม./ชม.ขึ้นไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน อาจทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น เกิดไฟฟ้าช็อตหรือเพลิงไหม้ได้ ในทะเลมีคลื่นลมแรงจัดมาก เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็ก และอาจมีคลื่นใหญ่ซัดชายฝั่ง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากจนท่วมอาคารบ้านเรือนริมทะเล
พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่างกัน ขึ้นกับระดับความแรงหรือความเร็วในการหมุนรอบจุดศูนย์กลาง และแหล่งกำเนิด ดังนี้
1. พายุดีเปรสชั่น ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กม./ชม. (34 นอต)
2. พายุโซนร้อน ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 63 กม./ชม.ขึ้นไป (34 นอต) แต่ไม่ถึง 118 กม./ชม. (64 นอต)
3. พายุไต้ฝุ่น ความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลางพายุตั้งแต่ 118 กม./ชม. ขึ้นไป
ไต้ฝุ่น และ เฮอร์ริเคน เป็นชื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อน ระดับความรุนแรงเท่ากัน แต่เรียกต่างกันตามบริเวณที่เกิด ดังนี้
• พายุไต้ฝุ่น เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น
• พายุเฮอร์ริเคน เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
ไต้ฝุ่นเคยขึ้นฝั่งที่ประเทศไทยหรือไม่
(พายุไต้ฝุ่นเกย์ขณะพัดเข้าสู่ประเทศไทย)
พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ไทยส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชั่น เนื่องจากพายุอ่อน กำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนพายุที่มีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีโอกาส เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยน้อยมาก พายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในความแรงระดับไต้ฝุ่น คือ “ไต้ฝุ่นเกย์” ถือเป็นพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดขณะขึ้นฝั่งเท่าที่เคยมีมาในคาบสมุทรมลายู ก่อตัวขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ในอ่าวไทยตอนล่าง เคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตอนบน วันที่ 4 พ.ย. พ.ศ. 2532 เวลา 08.30 น. ด้วยความเร็วถึง 185 กม./ชม. ถล่ม อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ อ.บางสะพานน้อย และอ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.ท่าแซะ และอ.ปะทิว จ.ชุมพร สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน และพื้นที่เกษตรกรรม มีผู้เสียชีวิตถึง 446 คน บาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, wikipedia, http://www.enjoyday.net, NOAA