อุตรดิตถ์ 3 ก.ย. – ก.เกษตรฯ หนุนปลูกข้าวโพดหลังนา พื้นที่นำร่องสหกรณ์การเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลก เป็นต้นแบบการใช้กลไกสหกรณ์ส่งเสริมการผลิตและจัดหาตลาด จากนั้นจะขยายผลทำอีก 2 ล้านไร่ในเดือนพฤศจิกายน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาในพื้นที่ของสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจัดขึ้นที่ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงขึ้น เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศอย่างมาก ขณะเดียวกันการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังจะช่วยลดผลผลิตข้าวที่จะเข้าสู่ตลาด ช่วยพยุงราคาข้าวให้ดีขึ้น
นายกฤษฎา กล่าวว่า พื้นที่นำร่องของโครงการนี้มี 2 จังหวัด คือ อุตรดิตถ์และพิษณุโลก รวมพื้นที่ 5,000 ไร่ ได้ข้าวโพด 7,500 ต้น ซึ่งภาครัฐจะช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์กู้เงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ไปลงทุนไร่ละ 3,500 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ส่วนการคัดเลือกพื้นที่นั้น ได้ตรวจสอบความเหมาะสมตาม Agri-Map คือ ต้องเป็นที่นาซึ่งดินไม่อุ้มน้ำเกินไป สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโรงหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกหม้อ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพิชัย จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิษณุโลกมี 1 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด รวมสมาชิก 415 ราย
นายกฤษฎา กล่าวว่า โครงการนำร่องนี้จะใช้กลไกสหกรณ์บริหารจัดการตั้งแต่กระบวนการส่งเสริมการผลิต จัดหาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ การดูแลพื้นที่เพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต การรวบรวมผลผลิต ตลอดจนจัดหาตลาดรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรสมาชิก เป็นการทำงานลักษณะเชื่อมโยงความร่วมมือจัดการข้าวโพดแบบครบวงจรระหว่างภาครัฐ สหกรณ์ และภาคเอกชน ส่วนต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยประมาณ 3,769 บาทต่อไร่ คาดว่าจะได้ผลิตผลิตเฉลี่ย 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ สหกรณ์จะทำหน้าที่รวบรวมผลผลิต โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้หาผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมด ได้แก่ บริษัท CPF และบริษัท เบทาโกร รับซื้อผลผลิตข้าวโพดที่ความชื้น 30 % กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 5 บาท ซึ่งสมาชิกจะมีรายได้ประมาณไร่ละ 7,500 บาท หักต้นทุนจะเหลือกำไร 4,000 บาท เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวจะมีรายได้มากกว่า 2,000 บาท เนื่องจากการปลูกข้าวมีต้นทุนสูงกว่า การช่วยเหลือที่จะทำเพิ่มคือ การทำประกันภัยพืชผล หากเกิดภัยธรรมชาติ เกิดโรคหรือแมลง บริษัทที่รับประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในการเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์คัดเลือกเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งตรวจสอบคุณสมบัติของพื้นที่ปลูก ซึ่งต้องเหมาะสมที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วม ขณะนี้สมาชิกสหกรณ์เริ่มปลูกบ้างแล้ว ข้าวโพดเป็นพืชไร่มีอายุ 4 เดือน จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน จากนั้นจะนำรูปแบบการดำเนินการขยายไปทำในพื้นที่อื่นรวม 2 ล้านไร่ ซึ่งจะเริ่มเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน ทั้งนี้ สหกรณ์จะมีบทบาทสำคัญทุกกระบวนการใช้กลไกสหกรณ์ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาให้มีคุณภาพดี มีระบบการบริหารจัดการ การส่งเสริมการผลิตและการตลาด โดยใช้กลไกสหกรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกสมาชิกและครอบครัวได้อย่างมั่นคง
นายกฤษฎา กล่าวถึงการขยายผลโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา ว่า จะลดพื้นที่ทำนาปรังมาส่งเสริมการปลูกข้าวโพดรวม 2 ล้านไร่ โดยขณะนี้ให้กรมชลประทานกำหนดพื้นที่ที่ส่งน้ำเข้าถึง กรมพัฒนาที่ดินนำดินไปตรวจสอบเลือกพื้นที่ที่มีสภาพดินเหมาะสมแก่การปลูกข้าวโพด กรมส่งเสริมการเกษตรหากลุ่มเกษตรกรที่สนใจจะร่วมโครงการ โดยอาจเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์หาสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อม เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้รวมกลุ่มทำเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวบรวมผลผลิตได้ง่าย ต่อรองราคากับผู้รับซื้อได้
นอกจากนี้ ยังให้เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดเตรียมเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้การเพาะปลูก เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากทำนาอย่างเดียวไม่เคยปลูกพืชไร่ จึงต้องช่วยดูแลใกล้ชิด สำหรับการสนับสนุนเข้าถึงเงินทุน จากเดิมให้ค่าช่วยเหลือไร่ละ 2,000 บาท เพื่อให้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาปรังมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เกษตรกรไม่ค่อยสนใจ จึงเจรจากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ โดยให้ไร่ละ 3,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายทำประกันภัยพืชผล ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อกำหนดเบี้ยประกันที่เหมาะสม โดยรัฐจะออกเบี้ยประกันร้อยละ 70 เกษตรกรชำระเพียงร้อยละ 30 หากเกิดภัยธรรมชาติ โรคหรือแมลงระบาด ทำให้ผลผลิตเสียหายจะได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัดเร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เนื่องจากจะได้ทราบจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่แน่นอน รวมทั้งพื้นที่ปลูกเพื่อคาดการณ์ปริมาณผลผลิต ซึ่งจะนำไปติดต่อกับบริษัทผลิตอาหารสัตว์ให้รับซื้อทั้งหมด สำหรับราคาเป็นไปตามกลไกตลาด แต่คาดว่าข้าวโพดที่ความชื้น 30% จะได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาทเช่นเดียวกับราคารับซื้อในโครงการนำร่อง คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงขึ้นเนื่องจากในประเทศมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก แต่ผลผลิตไม่เพียงพอ อีกทั้งต้นทุนการผลิตยังต่ำกว่าปลูกข้าว และหากส่งเสริมเทคโนโลยีในการผลิตให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นเกษตรกรจะมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น.-สำนักข่าวไทย