กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – รมว.เกษตรฯ ระบุหนี้สะสมเกษตรกรที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะซื้อมาบริหารจัดการมีเพียง 239 ราย จากสมาชิกที่ลงทะเบียน 468,000 ราย ที่เหลือจะเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยได้ส่งข้อสรุปทั้งหมดเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่การเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (กฟก.) กล่าวว่า ได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบ โดยจากเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีหนี้เสีย (NPL) 468,000 ราย มูลหนี้ 85,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2549 – 2557 ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 36,000 ราย มูลหนี้ 12,000 ล้านบาท เป็นเงินต้น 6,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 4,000 ล้านบาท
นายกฤษฎา กล่าวว่า วันนี้ได้พิจารณาสภาพหนี้ตามข้อกำหนดที่ กฟก.จะรับซื้อหนี้มาบริหารจัดการได้ โดยต้องเป็นมียอดหนี้ไม่เกิน 2,500,000 บาท อีกทั้งต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำเกษตรกรรมและมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปรากฎว่ามีเพียง 239 รายเท่านั้นที่อยู่ในเกณฑ์ มูลหนี้ 106 ล้านบาท ซึ่งทาง ธ.ก.ส.ตัดต้นให้ครึ่งหนึ่ง จึงเหลือเงินที่ กฟก.ต้องขอจากรัฐบาลเพื่อนำมาซื้อหนี้ 53 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเจรจากับ ธ.ก.ส.ขอปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรให้ตัดต้นหนี้ให้ร้อยละ 50 พักดอกเบี้ยเก่าให้ จากนั้นเกษตรกรผ่อนชำระหนี้ที่เหลืออีกร้อยละ 50 ภายใน 15 ปี โดยระหว่างนี้ ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ย MRR-ร้อยละ 3 หรือประมาณร้อยละ 4 สำหรับลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์อื่นมีกว่า 600 ราย เป็นเงิน 500 ล้านบาท อยู่ในเกณฑ์ที่ กฟก.จะซื้อหนี้ประมาณ 100 ราย ส่วนลูกหนี้สหกรณ์มี 580 ราย ยอดเงิน 390 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีหนี้ของธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รวมกว่า 2,000 ราย
นายกฤษฎา กล่าวว่า กำลังเจรจากับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธอส. และสหกรณ์ในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับ ธ.ก.ส. ส่วนหนี้ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ กฟก. ได้แก่ หนี้ที่เกิน 2,500,000 บาท เป็นหนี้ที่ไม่ได้กู้เพื่อไปทำการเกษตร รวมทั้งหนี้ที่ใช้บุคคลค้ำประกัน ขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบแล้วให้ความเห็นว่า กฟก.ไม่สามารถซื้อหนี้มาบริหารจัดการได้
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กฟก.เปิดให้เกษตรกรที่มีหนี้สินสะสม ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเร่งขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในจังหวัดที่องค์กรเกษตรกรตั้งอยู่ในวันทำการด้วยตนเอง ซึ่งเอกสารที่ใช้ประกอบคำขอมีดังนี้ คำขอขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรตามแบบที่สำนักงานกำหนด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานแห่งหนี้ เช่น สัญญาจำนอง สัญญากู้ยืม หรือสมุดบัญชีเงินกู้ กรณีที่เกษตรกรมีหนี้เร่งด่วน ให้เกษตรกรยื่นคำขอจัดการหนี้เร่งด่วนคราวเดียวกัน โดยแนบเอกสารคำฟ้อง หรือคำพิพากษา หรือคำบังคับคดี ตามแต่กรณี.-สำนักข่าวไทย