กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – อีอีซีจับมือสนามบินเจิ้งโจวของจีนพัฒนาให้เป็นสนามบินคู่แฝดกับสนามบินอู่ตะเภา ด้านนักลงทุน 300 คน สนใจเข้าร่วม Market Sounding สนามบินอู่ตะเภา รอบที่ 2 แน่น
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก (ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) ล่าสุดได้ตกลงความร่วมมือที่จะพัฒนาให้เป็นท่าอากาศคู่แฝดสนามบินเมืองเจิ้งโจว มลฑลเหอหนาน ของจีน เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้จะมีความร่วมมือจากอังกฤษ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับทีโออาร์โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภามีกำหนดออกภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินออกมาด้วย ซึ่งจะช่วยพัฒนาสนามบินด้วย และการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ไม่เพียงพัฒนาท่าอากาศยานเท่านั้น แต่สำนักงานอีอีซี ตั้งใจพัฒนาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูงานและแสวงหาความร่วมมือกับอังกฤษ ฝรั่งเศส มีการไปแสวงหาความร่วมมือที่ญี่ปุ่น
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันกับภาคเอกชนที่เข้าร่วมงาน Market Sounding ครั้งที่ 2 โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก ว่า การประมูลโครงการนี้จะสามารถได้ผู้ชนะประมูลก่อนเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และลงนามเสร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้งปีหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการนี้เริ่มต้นได้เลยโดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ รัฐบาลนี้มีความตั้งใจให้โครงการเมืองการบินที่มีการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็น game changer หรือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องการเป็นศูนย์กลางทางการบิน และยังเชื่อมโยงถึงการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่มีความสำคัญที่สุดในเอเชีย และสำนักงานอีอีซี ยังเจรจากับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อเข้ามาลงทุนเพื่อเสริมเมืองการบินด้วย
ขณะที่สายการบินมั่นใจได้ว่าจะมีลูกค้าใช้บริการมาก โดยลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีถึง 40 ล้านคนและในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 50-60 ล้านคน หนึ่งในนักท่องเที่ยวเป้าหมาย คือ นักท่องเที่ยวพัทยามีประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน การสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาในพื้นที่อีอีซี รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคของบริษัทต่าง ๆ ตลอดจนการลงทุนโครงการ Digital Park Thailand เป็นต้น และช่วง 5 ปีข้างหน้าก่อนที่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะเสร็จรัฐบาลไทยจะส่งเสริมให้มีผู้มาใช้บริการท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพิ่มขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อโครงการเสร็จจะได้มีลูกค้าจำนวนมาก
พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขณะเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : เมืองการบินภาคตะวันออก (ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) โดยมีภาคเอกชน 300 คน จาก 150 บริษัทสนใจลงทุนเข้าร่วมงาน
พลเอกชัยชาญ กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในอีอีซี ที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรมด้วยความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งทำเลที่ตั้งของโครงการจะช่วยผลักดันให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศ CLMV ยกระดับให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคและช่วยขับเคลื่อนโครงการลงทุนในอีอีซีให้สำเร็จ
พลเรือเอกโสภณ วัฒนมงคล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือและประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของกองทัพเรือ กล่าวว่า รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา คือ รูปแบบ PPP Net Cost เอกชนได้รับสิทธิ์จัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของเอกชน ได้แก่ ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับท่าอากาศยาน การลงทุนพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ของโครงการ และดำเนินการและบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญา โดยเอกชนมีสิทธิ์ที่จะรับรายได้จากการดำเนินงานของท่าอากาศยานและองค์ประกอบอื่น ๆ ของโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นผลตอบแทนการทางการเงิน พบว่าอัตราผลตอบแทนโครงการ (IRR) ได้แก่ ร้อยละ 10.00 -12.00 อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น ได้แก่ ร้อยละ 11.00 – 13.00 แสดงให้เห็นว่าโครงการน่าจะมีผลตอบแทนน่าสนใจต่อการลงทุนของผู้ร่วมลงทุนเอกชน
ทั้งนี้ กองทัพเรือจะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการสัมมนาทั้ง 2 ครั้ง นำไปปรับปรุงร่างเอกสารสัญญาการร่วมลงทุน และร่างข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในการคัดเลือกและเจรจากับภาคเอกชนต่อไป จากนั้นจะประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2561 และให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นจะประกาศผลการคัดเลือกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562.-สำนักข่าวไทย