กรุงเทพฯ 27 ส.ค. – ผู้แทนชาวสวนยางเสนอทางออกปัญหาราคายางพาราตก ทั้งลดการปลูก-เพิ่มการแปรรูป และกระตุ้นกยท.ให้เร่งส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า ราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้ขณะนี้ยังเป็นราคาที่ไม่คุ้มต้นทุนการผลิต โดยราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 43 บาท ในภาวะที่เกิดวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ รัฐบาลยังทำได้ไม่ถึงกิโลกรัมละ 60 บาทตามที่บอกแก่เกษตรกรไว้ จึงเสนอแนะให้ชาวสวนยางลดจำนวนต้นปลูกต่อไร่ จาก 80 ต้นต่อไร่เหลือ 40 ต้นต่อไร่ ส่วนพื้นที่ว่างให้ปลูกพืชแซมยางและพืชร่วมยางอย่างเช่น กระถิน สะตอ ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงหมูหลุม นำขี้มาทำปุ๋ย ปลูกพืชผักสมุนไพรหรือพืชอายุสั้นขาย ซึ่งจะมีรายได้ทุกวัน โดยไม่ต้องหวังพึ่งรายได้จากยางพาราอย่างเดียวเหมือนในอดีต
ทางแก้ปัญหาอีกทางคือ จะต้องไม่หวังพึ่งส่งออกยางดิบแต่หันมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ขณะนี้สยยท.ร่วมกับนักวิชาการและนักวิจัยมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านยางพาราเพื่อพัฒนาแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนจะขยายผลไปสู่สถาบันเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เขาหันมาแปรรูปยางพาราแทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบ เช่น ยางก้อนถ้วย น้ำยางสดหรือยางแผ่นรมควัน โดยมีงานวิจัยมารองรับ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่ เช่นเมื่อได้น้ำยางสดหรือยางก้อนถ้วยก็นำมาเแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆ ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากโดยแปรสภาพเป็นน้ำยางข้น จากน้ำยางข้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือจากยางแห้งเป็นยางแผ่นรมควันหรือยางแท่งมาตรฐาน พูดถึงกลางน้ำ ถ้ากลุ่มสหกรณ์มีความเข้มแข็งสามารถแปรรูปเป็นน้ำยางข้นได้ก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลงหรือทำยางแผ่นรมควันก็จะมีทางเลือกทางด้านการตลาดมากขึ้นด้วย
สำหรับนโยบายส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในประเทศเช่น ให้หน่วยราชการนำไปผสมทำถนน ทำสระน้ำ ไม่มีความก้าวหน้า ดังนั้นการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดปริมาณผลผลิตยางในประเทศซึ่งจะทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น
นายอุทัยยังกล่าวถึง การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงคนใหม่ว่า เป็นความหวังของชาวสวนยางพาราเนื่องจากนายอนันต์เคยรับราชการเป็นผู้อำนวยการส่วนการผลิตยาง กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และเป็นผู้ร่วมจัดทำร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ปัจจุบันยังดำรงค์ตำแหน่งกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) จึงมั่นใจว่า นายอนันต์เข้าใจปัญหาเรื่องยางพาราดีและจะมีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ยางพาราซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ – สำนักข่าวไทย