ชุมพร 21 ส.ค. – ครม.ผลักดันแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ตามข้อเสนอผู้ว่าฯ และภาคเอกชน 11 จังหวัดภาคใต้ วงเงินกว่า 1.28 แสนล้านบาท เชื่อมโยงทั้งคมนาคนขนส่งทางน้ำ อากาศ เรือ เปิดทางส่งสินค้าสู่ภูมิภาค
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ จ.ชุมพร รับข้อเสนอจากที่ประชุมพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เสนอแผนพัฒนาโครงการ 11 จังหวัดภาคใต้ โดยกำหนดให้จังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช อยู่ภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC:Southern Economic Corridor) หรือ SEC โดยมีแรงจูงใจต่อการลงทุนผ่านการส่งเสริมการลงทุนเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใช้เงินเฟสแรก 12,000 ล้านบาท พัฒนาจุดเริ่มต้น ด้วยพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสิ่งอำนวยความสะดวก กิจกรรมขนส่งทาเรือ การขนส่งตามชายฝั่ง การพัฒนารถไฟทางคู่เส้นใหม่ชุมพร-ระนอง ให้เป็นเส้นทางไปสู่อันดามันเชื่อมกับฝั่งอ่าวไทย เชื่อมต่อกับประเทศเขตความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ประกอบด้วย บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย ท่าเรือน้ำลึก ท่าเรืออเนกประสงค์ จะส่งผลต่อการท่องเที่ยว ขนส่งสินค้าและการประมงร่วมกันมากขึ้น
นายสมคิด กล่าวว่า เมื่อภาคใต้มีศักยภาพเศรษฐกิจเข้มแข็งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เห็นได้จากตัวเลขจีดีพีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขยายตัวร้อยละ 4.8 ในครึ่งปีแรก นับว่าทั้งการลงทุนและการบริโภคยังดีต่อเนื่องในปีนี้ จึงคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวร้อยละ 4.5 หลังจากนี้ 6-7 เดือนจะเร่งปฏิรูปทุกด้านทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะการผลักดัน โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า (Thailand Rivera) การท่องเที่ยวเลียบชายทะเล ด้วยการพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดฝั่งอ่าวไทยและอันดามันทั้ง 2 ฝั่ง เริ่มจาก อ.หัวหิน เพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ ต่อเนื่องไปยังชุมพร , สงขลา นอกจากนี้ ยังเพิ่มแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวเขาตะนาวศรี พัฒนาธรรมท้องถิ่น สินค้าโอทอป ไม่ใช่เน้นทางชายฝั่งทะเลเพียงด้านเดียว เพราะยังมีน้ำตก ป่าอันสมบูรณ์อีกหลายพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวหลายสไตล์
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วงเงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคใต้ทั้งหมด 28 โครงการ วงเงิน 128,000 ล้านบาท แบ่งเป็นทางบก วงเงิน 43,000 ล้านบาท ท่าเรือ 628 ล้านบาท สนามบิน 3,338 ล้านบาท และระบบรางวงเงิน 83,378 ล้านบาท ประกอบด้วย การสร้างรถไฟเส้นทางใหม่ ชุมพร -ระนอง เริ่มศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม EIA เริ่มก่อสร้างได้ในปี 2562 จากนั้นมีแผนขยายรถไฟทางคู่ต่อจากประจวบฯ -ชุมพร ขยายไปสุราษฎร์-สงขลา และหาดใหญ่-ปะดังเบซาร์ จากนั้นเพิ่มเส้นทางใหม่ สุราษฎร์-ท่านุ่น ระยะทาง 158 กิโลเมตร และขยายเพิ่มเส้นทาง สุราษฎร์ฯ-ดอนสัก เพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังเพิ่มเส้นทางรถไฟทางคู่ พังงา-กระบี่ 314 กิโลเมตร เพื่อให้การเชื่อมต่อสินค้าภาคใต้ตอนบนและตอนล่งเชื่อมต่อทั้งสองฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
การสร้างมอเตอร์เวย์ลงภาคใต้ นำร่องช่วงนครปฐม-ชะอำ ลงทุนแบบ PPP ในปี 2560-2564 จากนั้นจะขยายลงสู่ภาคใต้ตลอดแนวทั้งช่วงชะอำ-ชุมพร ในปี 2565-2569 เส้นทางชุมพร-สงขลา ในปี 2570-2574 และเส้นทางสงขลา-นราธิวาส ปี 2575-2579 เพื่อการเดินทางเสริมจากทางหลวงหมายเลข 4 เพชรเกษม ที่กำลังแออัดในปัจจุบัน ส่วนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จากเดิมรองรับ 7,000 ตู้ เพิ่มเป็น 500,000 ตู้ต่อปี การขนส่งสินค้าผ่านไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC สะดวกมากขึ้น ส่วนทางด้านอากาศ มุ่งพัฒนา 3 สนามบิน ทั้งระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ทั้งเพิ่มความยาวรันเวย์ของสนามบินชุมพรจาก 2,300 เมตร เพิ่มเป็น 3,000 เมตร รองรับเครื่องโบอิ้ง 747 สนามบินระนอง รันเวย์จาก 2,100 เพิ่มเป็น 2,300 เมตร เพิ่มอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ เพราะชุมพรผู้โดยสารเพิ่มร้อยละ 30 ต่อปี สนามบินสุราษฎร์เพิ่มร้อยละ 50 เริ่มแออัดมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย