กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – กรมชลประทานเตรียมใช้ทุ่งบางระกำเป็นที่พักน้ำจากแม่น้ำยม ซึ่งมีปริมาตรสูงสุดระลอกแรก รวมทั้งเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองสุโขทัยที่ลำน้ำยมแคบและน้ำสูงสุดจะไปถึงเย็นพรุ่งนี้
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการสำนักชลประทานที่ 3 พิษณุโลกดำเนินการพร่องน้ำในระบบชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน เพื่อรองรับน้ำจากแม่น้ำยม ซึ่งจะต้องผันเข้ามาเก็บไว้ที่ทุ่งบางระกำ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในตัวเมืองสุโขทัย ทั้งนี้ เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมาน้ำแม่น้ำยมปริมาตรสูงสุดกำลังไหลผ่านอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และจะไหลไปถึงอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยในช่วงเช้ามืดของพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) ด้วยอัตราสูงสุด 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะถึงตัวเมืองสุโขทัยในตอนเย็น
สำหรับแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยมีลักษณะแคบรับน้ำได้เพียง 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น กรมชลประทานเตรียมลดระดับน้ำหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวเมืองให้อยู่ในระดับต่ำสุดสามารถรองรับน้ำเพิ่มได้ 8-10 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะผันเข้าคลองสวรรคโลก-พิชัยหรือคลองยม-น่าน ผ่านประตูระบายน้ำหกบาทในอัตรา 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลงแม่น้ำน่าน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และผันลงแม่น้ำยมสายเก่า 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วใช้ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์เป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ โดยระบายในอัตรสูงสุดไม่เกิน 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผันเข้าคลองเล็กซ้าย-ขวา ไม่เกิน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อมาผันน้ำเข้าทุ่งทะเลหลวงและแก้มลิงต่าง ๆ เพื่อควบคุมน้ำไม่ให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่านได้พร่องในแม่น้ำยมสายเก่า (คลองเมม-คลองบางแก้ว) จนถึงระดับที่ต่ำกว่าระดับปกติลงอีก 1-2 เมตร เพื่อเตรียมรับการผันน้ำจากประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ เพื่อไม่ไห้เกิดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง พร้อมกันนี้ได้พร่องน้ำในแม่น้ำยมสายหลักเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ประตูระบายน้ำวังสะตือ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และผันน้ำแม่น้ำยม ลงแม่น้ำน่าน ผ่านคลอง DR-2.8 และ DR-15.8 ปัจจุบันระดับแม่น้ำยมที่สถานีวัดน้ำ Y.64 อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 146 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 2.83 เมตร
สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำในโครงการบางระกำโมเดลมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 382,000 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ประมาณ 98 % คงเหลืออีก 2% ระหว่างเร่งเก็บเกี่ยว โดยสาเหตุเก็บเกี่ยวล่าช้า เนื่องจากฝนตกชุกในพื้นที่ เกษตรกรรอเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ข้าวมีความชื้นสูง แต่ขณะนี้พร้อมรับน้ำเข้าทุ่งในกรณีวิกฤติ น้ำเอัอล้นตลิ่งทุ่งบางระกำ อำเภอบางระกำและทุ่งแม่ระหัน อำเภอเมืองพิษณุโลก ส่วนแก้มลิงบึงขี้แร้ง บึงระมาน และบึงตะเคร็ง จังหวัดพิษณุโลกมีน้ำเฉลี่ยร้อยละ 50 รับน้ำได้ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายทองเปลว กล่าวว่า ได้สั่งการให้เฝ้าระวังจุดเสี่ยง คือ แนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองสุโขทัยอาจมีน้ำผุดลอดกำแพง หากน้ำในแม่น้ำมีปริมาตรมาก ทั้งนี้ ได้อุดรอยต่อระหว่างแนวพนังกั้นน้ำเก่ากับแนวใหม่ ซึ่งเป็นผลให้ปีที่ผ่านมามีน้ำลอดช่องว่างขึ้นมาแล้ว คาดการณ์ว่าน้ำปริมาตรสูงสุดจะถึงตัวเมืองสุโขทัยเย็นพรุ่งนี้ แต่จากแผนบริหารจัดการมั่นใจว่าจะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในตัวเมืองแน่นอน.-สำนักข่าวไทย