ชลบุรี 19 ส.ค. -กกต. คาดตีกรอบค่าใช้จ่ายหาเสียงแบ่งเขต 2 ล้าน บัญชีรายชื่อไม่เกิน 70 ล้าน ห่วงปมคำนวนค่าใช้จ่ายหาเสียงโซเชียล เชื่อไพรมารีโหวตยังมี เผย 3 รูปแบบ แล้วแต่เลือก
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายตอนหนึ่งในการจัดทำแผนปฎิบัติการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ถึงการทำไพรมารีโหวตว่า ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องมีการทำไพรมารีโหวต ซึ่งไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตรวจสอบให้การทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นผู้ตรวจการเลือกตั้งรวมทั้ง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดจะต้องรู้และเข้าใจเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งมีหลักการส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองเก่าและใหม่ต่างกัน พรรคเก่าจะต้องมีอย่างน้อย 4 สาขา แต่พรรคใหม่ส่งได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีพรรคตามกฎหมายเดิม 69 พรรค พรรคที่แจ้งชื่อใหม่ 117 พรรค รับจดทะเบียนไปแล้ว 4 พรรค ซึ่ง กกต.จะต้องพยายามให้พรรคการเมืองใหม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งให้ได้
“ทุกวันนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคเลย เนื่องจากถูกเซ็ตซีโร่หมด แต่ละพรรคจะต้องไปหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัดเพื่อทำไพรมารีโหวต แต่ยังไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้เพราะติดคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แม้จะมีคำขออนุญาตหาสมาชิกจากพรรคการเมืองกว่า 100 ฉบับ ที่ กกต.ส่งไปยัง คสช. แต่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.จะพิจารณา” นายแสวง กล่าว
นายแสวงกล่าวอีกว่า การทำไพรมารีโหวตถ้าทำตามมาตรา 145 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีรูปแบบทั้งหมด 7-9 รูปแบบ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดหัวหน้าพรรคก็จะต้องเป็นคนเซ็นรับรอง หรือถ้าทำแบบภาคกระบวนการทำก็ไม่ได้น้อยลงเลย เพราะกฎหมายกำหนดให้สมาชิกพรรคในเขตนั้นๆต้องมีส่วนร่วม แต่ก็มีอีกรูปแบบคือการรับฟังความเห็น ซึ่งขึ้นอยู่ว่าถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด กกต.ก็จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้าให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค กกต.ก็สบาย อย่างไรก็ตาม เรื่องจะมีไพรมารีโหวตหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของ กกต. เราเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายและเชื่อว่าจะมีไพรมารีโหวต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน กกต.ก็สามารถทำได้
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนายแสวง กล่าวว่า ครั้งนี้เปลี่ยนไปเยอะ เพราะจะใช้ค่าใช้จ่ายเป็นเครื่องมือทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม โดย กกต.จะออกระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายกว่า 5 เรื่อง อาทิ การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรค ซึ่งจากการคำนวนเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งพรรคการเมืองกับ กกต.เคยมีข้อเสนอว่าอาจจะต้องกำหนดค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาทต่อผู้สมัครแต่ละคนในแบบแบ่งเขต แต่สุดท้ายก็จะต้องให้ กกต.หารือกับพรรคการเมืองต่างๆ อีกครั้งก่อนสรุปยอดเงินที่ชัดเจน ส่วนค่าใช้จ่ายการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะอยู่ตั้งแต่ 20-70 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สมัครที่แต่ละพรรคส่ง สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง เฟซบุ๊ก ไลน์ ถือว่าน่ากังวลที่สุด เพราะอาจจะมีปัญหาว่าจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายส่วนนี้อย่างไร เพราะนอกจากตัวผู้สมัครเอง ยังมีกองเชียร์อีก.- สำนักข่าวไทย