กรุงเทพฯ 19 ก.ย. – พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมรับฟังเหตุผลรอบด้านหากกระทบหนัก พร้อมเลื่อนแผนยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 เดือนมกราคม 2561 ด้านอียูแนะ “อย่าถอดใจเปิดเสรีพลังงาน”
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า เป้าหมายของกระทรวงพลังงานต้องการเห็นชนิดน้ำมันในประเทศไทยลดน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเบนซินที่ปัจจุบัน มี 5 ชนิด (เบนซิน, แก๊สโซฮอล์ 91, แก๊สโซฮอล์ 95, อี 20 และอี 85 ) โดยตามแผนงานจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ภายในเดือนมกราคม 2561 แต่หากเอกชนมองว่าไม่พร้อม เพราะการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 เพราะอาจมีปัญหาเรื่องน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (จีเบส 95 ) ไม่เพียงพอและโรงกลั่นน้ำมันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่จีเบส 91 ต้องส่งออกก็ต้องดูเหตุผลและข้อเท็จจริง แต่กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) มองว่าการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 อาจไม่ได้ทำให้ประชาชนหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ 95 อย่างเดียว แต่จะมีส่วนหนึ่งหันไปใช้อี 20 ด้วย จึงอาจไม่ต้องนำเข้าจีเบส 95 ปริมาณมากเหมือนที่ภาคเอกชนกังวล แต่ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ก็ต้องปรับแผนให้เหมาะสม
นายมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นอยู่ระหว่างหารือเรื่องนโยบายยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งต้องนำเข้าจีเบส 95 เพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มโรงกลั่นต้องให้ข้อมูลประเด็นแก่รัฐบาลเข้าใจ เพราะมองภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ
“ควรปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดและให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจ เช่น กรณีอี 85 ไบโอดีเซล บี 7 หากฝืนกลไกตลาดจะทำให้นโยบายเป็นไปได้ยากและสุดท้ายผู้บริโภคต้องเป็นผู้รับภาระ” นายมงคลนิมิตร กล่าว
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการบรรยายพิเศษของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมฯ และระบุว่ากระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานอย่าง ต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เน้นสร้างภาคพลังงานให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน อาทิ การเพิ่มแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ การปฏิรูปการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันมีการผลิตอย่างกว้างขวาง ซึ่งในอนาคตไฟฟ้าที่จะส่งเข้าระบบต้องมีลักษณะ Firm การพัฒนาด้าน Smart City และ Smart Grid การพัฒนาเพื่อรองรับยานยนต์ ไฟฟ้า รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น
นายวอลเทอร์ โบ้วส์ อดีตผู้อำนวยการ Energie Control Austria (E-Control) บรรยายว่า การบริหารจัดการและการกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติมีการดำเนินการตลอดช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาบรรลุถึงเป้าหมายการเปิดเสรีระบบพลังงานให้มีการแข่งขันโดยผู้ประกอบการมากราย ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อจากผู้จำหน่ายที่มีหลายรายแข่งขันกันในราคาพลังงานที่สะท้อนการแข่งขัน รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานให้สามารถรับส่งพลังงานข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในอียูได้อย่างเสรี ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้วยังช่วยทำให้ตลาดพลังงานมีการแข่งขันกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภูมิภาค
“อย่าถอดใจโดยง่ายการเปิดเสรีระบบพลังงานต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสัมฤทธิ์ผลและหวังว่าประสบการณ์ในการบริหารและกำกับกิจการพลังงานของอียูที่ได้นำเสนอวันนี้จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาการปรับโครงสร้างการบริหารและกำกับกิจการพลังงานของประเทศ ไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมในอนาคตได้เช่นกัน” นายวอลเทอร์ โบ้วส์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย