ทำเนียบรัฐบาล 10
ส.ค.- บอร์ด อีอีซี ปลื้มโครงการคืบหน้า
ด้านเพียร์สันจากอังกฤษร่วมสร้างหลักสูตรพัฒนาบุคลากรรองรับการ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
นางสาวพจณี
อรรถโรจน์ภิญโญ
รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)
เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2561
โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า
ที่ประชุมรับทราบและเห็นชอบการความคืบหน้าในการทำงานของสำนักงานอีอีซี ได้แก่
ความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่ง สำนักงานอีอีซีร่วมมือกับบริษัท เพียร์สัน
จากอังกฤษในการพัฒนาบุคลากรในอีอีซี โดยจะเข้ามาสร้างหลักสูตรการศึกษาพัฒนาบุคลากรในการรองรับการพัฒนา
10 อุตสาหกรรม
ซึ่งทางอีอีซีลงนามบันทึกความเข้าใจ Framework for Human Resources
Development Collaboration ไปแล้ว
บริษัท เพียร์สัน
มีแผนการดำเนินงานชัดเจนที่จะนำแนวทางการพัฒนาแรงงานด้วยระบบ Business and
Technician Education Council (BTEC) ซึ่งเป็นหลักสูตรอาชีวะศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาปรับใช้ให้สอดคล้องตรงกับความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี
โดยทางเพียร์สันได้ส่งตัวแทนลงพื้นที่เพื่อพบปะสถาบันอาชีวะศึกษาในพื้นที่อีอีซีแล้ว
สำหรับการดำเนินการในด้านการศึกษา
สำนักงานอีอีซี มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับ 3
กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน
และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อขับเคลื่อนสัตหีบโมเดลพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(อีอีซี) ครึ่งปีแรก 2561 (ม.ค.ถึงมิ.ย.)ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 122
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่
มีจำนวนทั้งสิ้น 142 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 183,230
ล้านบาท ที่ประชุมยังรับทราบ
ประกาศสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11
คืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี
ยังรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้
ดังนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3
สนามบิน มีบริษัทเอกชนให้ความสนใจถึง 31 ราย จาก 7
ประเทศ การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3
สนามบิน ในระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึง
โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภา
มีบริษัทเอกชนสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ทั้งสิ้น 31
ราย จาก 7 ประเทศ และมีขั้นตอนการดำเนินงาน
ซึ่งจะมีการจัดประชุมชี้แจงเอกสารคัดเลือกครั้งที่ 2
วันที่ 24 กันยายนนี้
จะเปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ วันที่ 12
พฤศจิกายน 2561 และประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอ เดือนมกราคม 2562
จะจัดให้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุน เดือนกุมภาพันธ์ 2562
กำหนดเปิดให้บริการโครงการฯ ปลายปี 2566
ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี
ยังเห็นชอบแผนการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3
สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภาผ่าน ระยอง
จันทบุรี และตราด โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการศึกษาและออกแบบโครงการฯ
เห็นชอบกรอบการพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา
ระยะที่ 1
ที่พร้อมจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนกันยายน นี้
พร้อมเห็นชอบทั้งหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขและกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน
โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้ ได้มีการลงนาม MOU เช่าที่ดิน
เดือนสิงหาคมนี้
จะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน เดือนกันยายน 2561 จะประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอ
เดือนพฤศจิกายน 2561 และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุน เดือนธันวาคม 2561.-สำนักข่าวไทย