กทม. 9 ส.ค.-ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ แต่ญี่ปุ่นกลับเป็นต้นแบบเรื่องความมั่นคงและสร้างความสมดุลด้านพลังงานของโลก เราจะไปศึกษาแผนพลังงานของประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาปรับใช้กับประเทศไทย
นี่คือภาพบรรยากาศยามเย็นที่บริเวณท่าเทียบเรือ และสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอ็นจี ที่จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกหนึ่งแห่งที่คนญี่ปุ่นจะออกมาตกปลา ปิกนิก หรือนั่งพักผ่อน ชมวิวยามเย็น สะท้อนว่าคนในพื้นที่สามารถมีความเป็นอยู่กันตามปกติ แม้จะมีคลังเก็บ LNG ขนาดใหญ่ในพื้นที่ก็ตาม เพราะญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง
ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2554 ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานสำคัญ ความพอเพียงด้านพลังงานลดลงจาก 19.9% ในปี 2553 เหลือ 8.4% ในปี 2557 และหันไปพึ่งพาการนำเข้าถ่านหินและก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทน ซึ่งมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แต่ญี่ปุ่นก็เตรียมพร้อมในการสร้างสมดุลทางพลังงานด้วยสูตร 3 E+S ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางพลังงาน ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
ซึ่งตามแผนพลังงานในปี 2573 ญี่ปุ่นจะผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงที่ราคาไม่แพง ไม่พึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป เน้นประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนแผนพัฒนาพลังงานของไทย เพิ่มพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเป็น 15-20% เสริมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง เพิ่มจัดหาก๊าซแอลเอ็นจี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีอีก 1 ราย นำเข้าไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ในปี 2562 เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงพลังงานไทย.-สำนักข่าวไทย