ทำเนียบฯ 9 ส.ค.- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่น กฎหมายป่าไม้แก้ไขใหม่ ให้ประชาชนสามารถตัดต้นไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ได้ จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการตัดไม้มีค่าอย่างถูกกฎหมาย
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวใน “งาน MEET the PRESS Reform Together สร้างไทยไปด้วยกัน” วันนี้ (9 ส.ค.) ว่า ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติมีมานาน ทั้งการลักลอบค้าสัตว์ป่า และการตัดไม้ทำลายป่า ภาครัฐจึงมีความพยายามออกกฎหมาย เพื่อปกป้องรักษาป่าไม้ สัตว์ป่าและอนุรักษ์ธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้ปัญหาหมดไป
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุด ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้แห่งชาติ มาตรา 7 ให้ไม้หวงห้ามสามารถตัด โค่น เลื่อย ผ่า ขุด และชัก ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ แต่ต้องเป็นไม้ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเท่านั้น และในกรณีการตัดไม้จำนวนมาก สามารถดำเนินการให้กรมป่าไม้ตรวจสอบไม้ที่ตัดได้ เพื่อป้องกันปัญหา เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ และเพื่อส่งเสริมให้มีการตัดไม้มีค่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และแก้ปัญหากรณีไม้มีค่าโค่นล้มทับบ้านสามารถตัดได้โดยไม่ต้องรอเจาหน้าที่ อย่างเหตุการณ์ไม้พะยูงโค่นที่ผ่านมา
“รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่า กฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่ หลังจากแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้แห่งชาติ ฉบับนี้แล้ว จะสร้างแรงจูงใจให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะต้นไม้มีค่า มีมูลค่ามาก ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงได้เตรียม 4 มาตรการ คือ1. จัดการป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ 2. สนับสนุนพัฒนาประเทศ 3. เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ 4. ปฏิรูปบริหารจัดการป่าเพื่อความยั่งยืน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึง สัตว์ป่าด้วย สิ่งสำคัญคือ ความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ ต้องช่วยกันป้องกันและสอดส่องเหตุการณ์ต่างๆ โดยสามารถโทรมาได้ที่สายด่วน 1362 และขณะนี้เตรียมสร้างอาสาพิทักษ์ป่าทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันพิทักษ์ป่าต่อไป
“รัฐบาลได้เตรียมสวนป่าประชารัฐ เพื่อให้เป็นพื้นที่ใช้สอย ปัจจุบันเตรียมไว้มีกว่า 100 แห่ง และเปิดไปแล้ว 60 กว่าแห่งทั่วประเทศ และในเร็วๆ นี้เตรียมเปิดที่ จ.ระนอง เป็นป่าชายเลนให้ประชาชนใช้สอยได้ เพื่อให้ในอนาคตต่อไป จะเป็นป่ากลางเมือง ซึ่งจะกลายเป็นมรดก ที่คนรุ่นนี้ต้องทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับประโยชน์ต่อไป” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังมีการพัฒนาร่างกฎหมายต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ในกฤษฎีกา เข่น พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และอีกหลายฉบับ เพื่อบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน .- สำนักข่าวไทย