อย. 6 ส.ค.-อย.ตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร BABYFACE PLUS+ อ้างสรรพคุณลวง ช่วยรักษาสิวผ่านสื่ออินสตราแกรม รวมทั้งชื่อผลิตภัณฑ์-ชื่อบริษัทผู้ผลิตที่ระบุบนฉลากไม่ตรงฐานข้อมูล อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อมาใช้ เสียเงินโดยไม่จำเป็น ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อเสียโฉม
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อ “BABYFACE PLUS+”เลขสารบบอาหาร 16-1-01957-1-0015 ขายผ่านสื่ออินสตราแกรมนั้น ทาง อย. ได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบอินสตราแกรมชื่อ “jiboblink” ระบุข้อความ Babyface.officia (รับตัวแทน) วิตามินหน้าเนียน/เจ้าแรกของไทย นำเข้าจากญี่ปุ่น รักษาสิวอักเสบ อุดตัน ผด ผื่นแพ้ ขาว เนียนใส ปลอดภัย100%และยังพบภาพการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น BABYFACE PLUS+ หน้าขาวเนียนใส รักษาสิว ทำให้สิวอุดตันยุบตัว รักษาสิวเรื้อรังขึ้นที่เดิมไม่หายสักที รักษาอาการแพ้ครีม น้ำ ฝุ่น ผิวติดสาร วิตามินจากธรรมชาติ 100% ….ฯลฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์หรือทางหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อื่นหรือด้วยวิธีอื่นใด เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้น ให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้
รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อว่าขณะนี้อย.ได้สั่งระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ปรับรายวันอีกวันละไม่น้อยกว่า 500 บาทแต่ไม่เกิน 1,000 บาทตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
นอกจากนี้การตรวจสอบฐานข้อมูลของเลขสารบบอาหารดังกล่าวพบข้อมูลการขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่ออาหาร พี เอ็น ซี ซึ่งไม่ตรงกับชื่อผลิตภัณฑ์อาหาร BABYFACE PLUS+ และอาจเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม ผู้ใดผลิต จำหน่าย อาหารปลอมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
รองเลขาธิการ อย. กล่าวด้วยว่า ขอเตือนประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อหลง เชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้โดยเด็ดขาด นอกจากจะเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็นแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ซ้ำร้ายถึงขั้นเสียโฉม โดย อย.ยังคงเข้มงวดในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นภัยร้ายต่อสังคม โดยเฉพาะทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จะไม่ปล่อยให้มีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายลอยนวล .-สำนักข่าวไทย