กรุงเทพฯ 29 ก.ค.- อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ชี้ปัญหาตำรวจมีตั้งแต่โครงสร้างและกระบวนการสอบสวนที่ไม่มีการถ่วงดุล “คำนูณ” ระบุ ร่าง กม.ตำรวจแห่งชาติ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญ ในการแก้ไขทุกข์ให้กับตำรวจและประชาชน
มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) จัดเสวนาการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปมากที่สุด ประชาชนต้องการเห็นตำรวจเป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญงานแต่ละด้าน แต่สภาพที่เป็นอยู่จะพบว่ามีการโยกย้ายข้ามกันไปมา เหมือนกับตำรวจคนหนึ่งทำงานได้ทุกเรื่องในตัวคนเดียว ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นมืออาชีพ ที่สำคัญประชาชนต้องการให้ตำรวจเป็นของประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือของผู้มีอำนาจ ประชาชนคาดหวังว่า ถ้าตำรวจอยู่ในพื้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา รู้เท่าทันเหตุการณ์ ซึ่งน่ายินดีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติการปฏิรูปตำรวจไว้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายที่ต้องใช้หลักอาวุโส
นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดประเด็นหนึ่ง เพราะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและเชื่อมโยงถึงประชาชนโดยตรง ถ้ากระบวนการนี้ไม่โปร่งใส ยิ่งจะสร้างความทุกข์ให้กับประชาชน เช่นกรณีของลุงที่กระโดดตึก สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการสอบสวน ถ้าไม่แก้ไขก็จะมีการเดิมพันด้วยชีวิตอีก เพื่อให้กลับมาดูสำนวนการสอบสวน ดังนั้นคำกล่าวที่บอกว่าคนจนติดคุก จึงไม่ได้ไกลจากความจริงเท่าใดนัก
นายบรรเจิด กล่าวว่า ปัญหาของตำรวจมีด้วยกันหลายปัญหาได้แก่ 1.โครงสร้างที่เป็นลักษณะพีระมิด ยอดพีระมิด คือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร.ถ้ายอดพีระมิดอยู่ใต้การเมือง ที่เหลือก็จะอยู่ใต้การเมืองเช่นกัน และระบบการบังคับบัญชาแบบชั้นยศไม่เอื้อต่อการทำงานสอบสวน 2.การแต่งตั้งโยกย้ายและการเข้าสู่ตำแหน่งในบางพื้นที่มีต้นทุนสูงมาก ซึ่งมีผลให้กระบวนการสอบสวนเดินหน้าไม่ได้ ถ้าการเข้าสู่ตำแหน่งมาจากการลงขันของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ต้นทางกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งประชาชนได้ และ3.ปัญหากระบวนการสอบสวน เป็นปัญหาที่ไม่มีใครเข้าไปถ่วงดุลตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการ เมื่อต้นทางปราศจากการถ่วงดุล ปลายทางก็จะเป็นปัญหาเช่นกัน ทำให้ขาดหลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน
นายบรรเจิด กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจะต้องเน้นไปที่โครงสร้างกระบวนการสอบสวนภายใต้หลักการสำคัญที่เป็นหลักสากล คือ การต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย การจะดำเนินการตามหลักสากลดังกล่าวได้ก็ต้องให้อัยการและตำรวจเข้ามาร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริง เรียกว่าตำรวจกับอัยการต้องเป็นกระบวนการเดียวกัน ดังนั้นในหลักสากล จึงควรให้อัยการเข้ามาร่วมแสวงหาข้อเท็จจริง และทำหน้าที่ถ่วงดุลการสอบสวนของตำรวจด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติอัยการไม่จำเป็นต้องเข้ามาในทุกคดี แต่ให้เข้ามาทำหน้าที่เฉพาะคดีที่มีความสำคัญ
“ถ้ากระบวนการนี้ถูกสถาปนาขึ้นมาได้จริง จะทำให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดหลักของประเทศไทย ที่ผ่านมาไม่เคยแก้ปัญหาเส้นเลือดหลักอย่างจริงจัง ในทางกลับกันกลับใช้วิธีการแก้ไขผ่านการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาจำนวนมาก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าทศวรรษนี้เรายังแก้ไขไม่ได้ เชื่อว่าจะเกิดการพลีชีพอีก ดังนั้นโครงสร้างของตำรวจ ควรให้ตำรวจไปขึ้นกับจังหวัด อย่างกรณีของถ้ำหลวง ถ้าเวลานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็อาจจะไม่สำเร็จอย่างทุกวันนี้ก็ได้ องคาพยพถ้าไม่อยู่ภายใต้ความเป็นเอกภาพ ก็ไม่มีทางที่ประชาชนในพื้นที่จะเกิดความผาสุก” นายบรรเจิด กล่าว
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าคณะกรรมการที่พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน และมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาร่วมอยู่ด้วย ซึ่งขั้นตอนการทำงานของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในกระบวนการของกฤษฎีกาแล้ว เหลือเพียงบางประเด็นเท่านั้น ส่วนร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 3ใน4
นายคำนูณ กล่าวว่า เมื่อร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีการประกาศบังคับใช้แล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์ 6 ประการ ได้แก่ 1.ประชาชนจะได้ตำรวจอาชีพที่มีความรู้ความสามารถ โดยเป็นตำรวจที่ไม่ต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์ 2.ประชาชนจะได้กำลังของตำรวจมาทำภารกิจที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น 3.ประชาชนจะได้กระบวนการสอบสวนคดีอาญาในชั้นตำรวจที่มีความเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นต่อผู้บังคับบัญชาตามปกติ
4.ประชาชนจะได้ระบบการสอบสวนที่รัดกุม และไม่สร้างภาระให้กับประชาชน คือ กำหนดให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมกระบวนการสอบสวนตั้งแต่ต้นในคดีอุกฉกรรจ์ 5.ประชาชนจะได้ระบบที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการจับกุมผู้ต้องหาและให้ผู้ต้องหามาแถลงข่าว และการละเลยพยานหลักฐาน และ 6.ประชาชนจะได้กลไกการตรวจสอบจากภายนอกองค์กรตำรวจมากขึ้น ประชาชนเห็นตำรวจที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย จะมีกลไกให้ประชาชนร้องเรียนได้โดยตรง และมีคณะกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกเข้ามาทำหน้าที่นี้
นายคำนูณ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ที่ประชาชนจะได้จากร่างกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญในระยะยาว ที่สุดแล้วการปฏิรูปตำรวจ จะต้องเป็นการแก้ไขทุกข์ให้กับตำรวจและประชาชนไปพร้อมกัน โดยให้ตำรวจสามารถได้เลื่อนขั้นตามความรู้ความสามารถ และเป็นการแก้ทุกข์ให้ประชาชนในการได้รับความยุติธรรม
“งานปฏิรูปตำรวจครั้งนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะมีเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันจำนวนมา แต่ผมเชื่อว่ากฎหมายสองฉบับถ้าบังคับใช้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้ทำอย่างดีที่สุด แต่กระบวนการตรากฎหมายจะต้องผ่านคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจช่วยกัน และหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเหมือนในอดีต” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับการโยกย้ายข้าราชการตำรวจในปีนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่น่าจะประกาศใช้ได้ทัน ทำให้ต้องกลับไปใช้การโยกย้ายตำรวจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้ใช้หลักอาวุโส โดยให้คณะรัฐมนตรีไปออกระเบียบและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้มีนักกฎหมายตีความกันว่าจะใช้หลักอาวุโสเพียงอย่างเดียว หรือ จะนำหลักอื่นมาพิจารณาด้วย จึงอยากให้สังคมช่วยกันติดตาม
นายสุเทพ กล่าวในช่วงท้ายว่า ตนเองอยากเป็นตัวแทน ประชาชน ขอบคุณคณะกรรมการฯที่พิจารณาร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ และดีใจที่เห็นการปฏิรูปตำรวจ แม้อาจไม่ได้ดั่งใจ 100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อได้เห็นร่างฉบับเต็ม ก็จะชวนประชาชนจุดพลุใหญ่ ฉะนั้นเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้ก็น่าจะสำเร็จ ทำให้เกิดการปฏิรูปตำรวจ เพื่อปลดทุกข์ตำรวจและประชาชน ขณะเดียวกันขอพูดในฐานะผู้ร่วมแต่งตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่า หากร่างกฎหมายของคำนูณและคณะกรรมการฯไม่ผ่านการพิจารณา จะขอคัดลอกไปปรับปรุงใหม่เป็นร่างของพรรค เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลต่อไปจะดำเนินการต่อหรือไม่.- สำนักข่าวไทย