โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท 24 ก.ค.-ปธ.ต้านคอร์รัปชันฯหวังป.ป.ช.เป็นยักษ์มีกระบองหลังกม.ลูกป.ป.ช.บังคับใช้ ขณะที่วงเสวนาปราบโกงต้องแรงและเร็วถอดบทเรียนมาเลเซีย มองการพิจารณาคดีลับหลังเป็นผลดีต่อการจัการคดีทุจริต
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดเสวนาหัวข้อปราบโกงต้องแรงและเร็ว ถอดบทเรียนจากมาเลเซีย โดยมีนายกษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด และนายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช.ร่วมเสวนา
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง ว่า 4 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาทุจริตมีความคืบหน้าระดับหนึ่ง สามารถนำผู้กระทำผิดระดับที่สูงพอสมควร รวมถึงระดับรัฐมนตรีมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ศาลและองค์กรอื่น โดยการพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น 2 ปีที่แล้วมีการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจะมีความรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา การออกพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่เป็นการลดโอกาสทุจริต และเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม
“ล่าสุด 2 วันที่ผ่านมาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งคาดหวังว่าพ.ร.ป.ฉบับนี้จะปราบปรามการทุจริตได้ดีขึ้น ลงโทษบุคคลระดับสูงให้ได้หากกระทำทุจริต เพราะหลายประเทศทำได้ แต่ประเทศไทยยังทำไม่ได้ จึงอยากเห็นยักษ์ที่มีกระบอง ไม่ใช่ถือไม้จิ้มฟัน” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
นายเจษฎ์ กล่าวว่า กรณีประเทศมาเลเซียแสดงให้เห็นว่าป.ป.ช.มาเลเซีย ทำงานจริงจัง เห็นได้จากเมื่อนายนาจิบ ราซักหมดอำนาจเพียงวันเดียวสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ทันที หากนายนาจิบมีพวกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ต่อให้แพ้การเลือกตั้งคดีอาจไม่เดินหน้า แต่เมื่อหันมามองประเทศไทย หากกรรมการป.ป.ช.เป็นพวกกับผู้มีอำนาจทางการเมือง แม้อำนาจการเมืองจะเปลี่ยนก็อาจทำอะไรไมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีกลไกที่เอื้อประโยชน์ ทำให้สามารถรักษาฐานของการเป็นพวกกันไว้ได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก
“ส่วนกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช.ฉบับใหม่กำหนดว่าให้ทำคดีให้แล้วเสร็จใน 2 ปี ยกเว้นบางกรณีจะขยายเป็น 3 ปี ซึ่งเมื่อก่อนถ้าจำเลยหนีจะดำเนินคดีไม่ได้ แต่กฎหมายใหม่ หากแจ้งผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดแล้วไม่มา สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ เพราะถ้าหนี อายุความจะหยุดตั้งแต่ตอนหนี เมื่อกลับมาจะนับอายุความต่อ แต่กระบวนการพิจารณายังเดินไป สามารถริบทรัพย์ ยึดทรัพย์ แสวงหาทรัพย์ได้และโทษแรงขึ้นด้วย” นายเจษฎ์ กล่าว
ด้านนายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า เวลาการเมืองเปลี่ยนขั้ว อัยการมักจะเจอการบ้านให้ทำตลอดคือ ผู้มีอำนาจใหม่จะส่งเรื่องให้ตรวจสอบผู้มีอำนาจเก่า จะเห็นว่าอำนาจเป็นทั้งมิตรและศัตรู ส่วนกรณีนายนาจิบ ราซักที่มีการมองว่าระหว่างมีอำนาจได้นั่งกดทับกระบวนการตรวจสอบไว้
“ส่วนประเทศไทยเรื่องลักษณะนี้ต้องยอมรับว่าจะหวังอะไรที่ขาวสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แม้แต่อัยการก็ไม่ได้ขาวร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกที่มีทั้งคนดีและไม่ดี” นายโกศลวัฒน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
