กระทรวงพลังงาน 19 ก.ค. – กบง.ปรับลดเงินชดเชยน้ำมันดีเซล หวังเพิ่มเม็ดเงินอุดหนุนแอลพีจีไปจนถึงสิ้นปี ปฏิเสธรัฐถังแตก
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่าที่ประชุม กบง.เห็นชอบปรับลดอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจาก 50 สตางค์ต่อลิตร เป็น 13 สตางค์ต่อลิตร และเห็นควรปรับลดอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จาก 3.51 บาทต่อลิตร เป็น 3.10 บาทต่อลิตร โดยยืนยันไม่มีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าการตลาดยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ส่งผลให้ภาพรวมกองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นประมาณ 724 ล้านบาท/เดือน หรือ 24 ล้านบาท/วัน จากเดิมมีรายจ่าย 1,040 บาท/เดือน หรือ 35 ล้านบาท/วัน เป็นมีรายจ่าย 315 ล้านบาท/เดือน หรือ 11 ล้านบาท/วัน จากปัจจุบันสถานภาพเงินกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 15 ก.ค.61 มีฐานะเป็นบวกสุทธิ 29,673 ล้านบาท เพื่อสามารถมีเงินนำมารักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียม (LPG) ในประเทศได้ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้
โดยจากสถานการณ์ด้านราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกขณะนี้มีความผันผวนมาก ที่ประชุม กบง.ยังมีมติให้กำหนดบัญชี LPG ของกองทุนน้ำมันฯ สามารถติดลบได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อการบริหารจัดการสถานการณ์ LPG ให้เกิดเสถียรภาพในการรักษาระดับราคาแอลพีจีขายปลีกขนาดถัง 15 กิโลกรัมให้คงอยู่ที่ 363 บาทต่อถัง ซึ่งต้องใช้เงินอุดหนุน 560 ล้านบาท/เดือนเพื่อรักษาระดับราคาให้อยู่ในระดับนี้ได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน
“ที่ผ่านมามีการนำเงินกองทุนในส่วนของบัญชี LPG ดูแลราคาขายปลีกในตลาดไม่ให้สูงเกินกว่าราคาแนะนำ ซึ่งทำให้กองทุน LPG ณ วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ติดลบ 117 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นแม้ประเมินว่าราคาแอลพีจีคาร์โก้ที่ใช้อ้างอิงราคาในประเทศอยู่ในช่วงขาลง แต่ยังคงมีความผันผวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนราคาขายปลีกแอลพีจีในประเทศไปจนถึงสิ้นปีนี้”นายทวารรัฐ กล่าว
นายทวารัฐ กล่าวว่า กบง.ยืนยันสถานภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีเสถียรภาพ ไม่ได้ถังแตกตามที่เป็นข่าว โดยรัฐบาลจะดูแลราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ขายให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ และสนับสนุนนโยบายการแข่งขันในกิจการก๊าซ LPG หรือหากมีการส่งออกก็จะดำเนินการได้อย่างจำกัด
นอกจากนี้ กบง.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ราคานำเข้าและราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นทุกสองสัปดาห์แทน จากเดิมที่เปลี่ยนแปลงเป็นรายสัปดาห์ โดยใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลังสองสัปดาห์ก่อนหน้าในการคำนวณค่าที่จะใช้ในสองสัปดาห์ถัดไป มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.61 เป็นต้นไป เพื่อไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป
ขณะเดียวกัน ได้ขอความร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) งดส่งออก LPG ของกองทุนน้ำมันฯ แต่หากมีความจำเป็นทางเทคนิคจะต้องส่งออกก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซ เช่น การ Shut-Down และการบำรุงรักษาของหน่วยที่รับก๊าซ LPG เป็นต้นให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ โดยจะมีการนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ต่อไป สำหรับการประชุม กพช. ครั้งถัดไปจะประชุมวันที่ 3 ส.ค. – สำนักข่าวไทย