สธ.17 ก.ค.-สธ.ชื่นชมความพร้อมทีมงาน รพ.มหาราชนครราชสีมา มีแผนรองรับด้านการแพทย์ ดูแลนักวิ่งที่มาร่วมวิ่งการกุศลระดมทุนสร้างอาคารของโรงพยาบาล สามารถช่วยกู้ชีพนักวิ่งเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ส่งผ่าตัดรักษาใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดได้สำเร็จ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข่าวนักวิ่งมีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ขณะร่วมงานวิ่ง 109 MAHARAT RUN FOR LIFE “109 ปี 109 ล้าน นักวิ่งหัวใจบุญ บนสนามวิ่งแห่งเกียรติยศ” สมทบทุนสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน) รพ.มหาราช นครราชสีมา ว่า กระทรวงสาธารณสุขรู้สึกชื่นชมทีมจัดงานงานวิ่งการกุศลของ รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย ตามแผนรองรับด้านการแพทย์ดูแลนักวิ่งที่มาร่วมงาน ทั้งรถพยาบาลระดับสูง 14 คัน รถจักรยานปั่นพร้อมวิทยุสื่อสาร 29 คัน เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่อง AED จากภาคีรวม 34 เครื่อง จาก รพ.รัฐ รพ.เอกชนและมูลนิธิกู้ชีพในพื้นที่รวม 34 เครื่อง ทีมแพทย์อาสา ทีมเวชกรฉุกเฉิน นักศึกษาแพทย์ประมาณ 300 คน กระจายตามจุดต่าง ๆ ทุกระยะ 1-2 ก.ม. เปิดโรงพยาบาลสนาม ทำให้สามารถกู้ชีพนักวิ่งที่หัวใจหยุดเต้นจากเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันได้อย่างรวดเร็ว และส่งผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยใส่ขดลวดขยายหลอดเลือด 3 เส้นได้สำเร็จ อาการดีขึ้นตามลำดับ คาดว่ากลับบ้านได้ใน 1- 2 วัน
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ขอแนะนำนักวิ่งให้ตรวจสุขภาพประจำปี ประเมินความพร้อมร่างกายของตนเองว่า มีโรคประจำตัวเช่น โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด โรคหัวใจ โดยเฉพาะหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจโต มีประวัติการเจ็บแน่นหน้าอกคล้ายโรคหัวใจหรือไม่ และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกฝนวิ่งในระยะทาง ความเร็ว และเวลาในการวิ่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่เกิดการหักโหมเกินกำลังของร่างกาย ที่สำคัญในขณะวิ่งต้องสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจเหนื่อยหอบ หน้ามืด วิงเวียน ขอให้หยุดวิ่ง และขอความช่วยเหลือจากทีมปฐมพยาบาลทันที .-สำนักข่าวไทย