กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยโตดีขึ้นร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 4 จับตาความเสี่ยงสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางอีไอซีปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 จากเดิมคาดว่าจะโตร้อยละ 4.0 เนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมาและกระจายตัวมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ของภาคเอกชนภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวตามทั้งการบริโภคและการลงทุน
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 11 จากปีที่ผ่านมาภาครัฐลงทุนติดลบร้อยละ 1.2 ผลจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ทำให้โครงการลงทุนภาครัฐล่าช้า เช่น โครงการรถไฟรางคู่ เป็นต้น แต่การเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงครึ่งปีแรกจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีออกมามากขึ้นจากสหรัฐและการตอบโต้ของประเทศผู้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม การส่งออกปีนี้ด้านมูลค่าคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 8.5 ซึ่งเป็นการปรับประมาณการตั้งแต่ 2 เดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่การท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะโตร้อยละ 8 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 38.2 ล้านคน
ส่วนผลกระทบจากอุบัติเหตุที่ภูเก็ตนั้น คงส่งผลกระทบไม่มาก เพราะไทยมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามจำนวนมาก แต่ภาครัฐจะต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นให้ทางญาติของนักท่องเที่ยวได้รับทราบ พร้อมกันนี้ต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว โดยวางมาตรการและแนวทางป้องกันเหตุ
สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและสภาพยุโรปนั้น กระทบการส่งออกสินค้าของไทยไม่มาก เพราะภาพรวมการส่งออกของไทยยังคงเป็นบวก แม้สินค้าบางตัว เช่น เครื่องซักผ้า และสินค้าบางตัวถูกขึ้นภาษีส่งออกไปสหรัฐแล้วก็ตาม ขณะที่สินค้าไฮเทคที่จีนถูกสหรัฐขึ้นภาษี ไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มนั้นป้อนให้กับจีน อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นและมีโอกาสทวีความรุนแรงหลังจากนี้อาจกระทบกับการค้าโลกและภาคการส่งออกของไทยระยะต่อไป ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับกลยุทธ์การรับมือไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่รองรับ หรือการเตรียมความพร้อมกับการแข่งขันที่อาจมีเพิ่มขึ้นในบางตลาด ด้านภาวะการเงินโลกเริ่มตึงตัวมากขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังยืนยันปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยปีนี้ จะขึ้นดอกเบี้ยรวม 4 ครั้ง ซึ่งปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง และจะปรับขึ้นปี 2562 อีก 3 ครั้ง ปี 2563 ขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย รวมถึงผลกระทบจากการส่งกลับกำไรของบริษัทต่างชาติส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง โดยตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.6
ส่วนราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารมองว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ราคาในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราไม่สูงมาก ช่วยทำให้ผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนมีจำกัด สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 สูงขึ้นเล็กน้อย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.1 เงินเฟ้อไม่มากจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่วนดอกเบี้ยนโยบายธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่า ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 จนถึงสิ้นปีนี้
ด้านเศรษฐกิจในประเทศ กำลังซื้อภาคครัวเรือนดีขึ้นจากแนวโน้มรายได้ที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีอุปสรรคปัจจัยภาระหนี้สินที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า รายได้ของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่กลับมาเติบโตในไตรมาส 2 ของปีหลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 9 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ ค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรก็มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเฉพาะสาขาธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากอย่างภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและร้านอาหาร อีกทั้งอัตราการว่างงานภาพรวมก็มีแนวโน้มลดลงจากช่วงต้นปี
ดังนั้น ครึ่งปีหลังรายได้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่ายังเติบโตได้ส่งผลให้ความต้องการแรงงานยังมีแนวโน้มที่ดี แต่การเติบโตของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เพราะรายได้จากค่าจ้างแรงงานและรายได้ภาคเกษตรเพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่ซบเซามาในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็วในช่วงก่อนหน้าและอยู่ในระดับที่สูง โดยผลการสำรวจครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติสะท้อนว่าระหว่างปี 2558-2560 ครัวเรือนทุกกลุ่มรายได้มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้รายได้ครัวเรือนจะดีขึ้นในปี 2561 แต่บางส่วนอาจต้องถูกนำไปชำระหนี้ ทำให้ประโยชน์ของการเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่ส่งผ่านมาสู่การบริโภคได้มากเท่าที่ควร
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งสามารถรองรับความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยภายนอกได้ ความผันผวนในตลาดเงินเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยจากผลกระทบของปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ตึงตัวมากขึ้น การกลับมาแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความกังวลต่อความเสี่ยงสงครามการค้า ทางธนาคารมองว่าด้วยปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแรง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีเพียงพอ จะเป็นตัวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีได้.- สำนักข่าวไทย