กรุงเทพฯ 5 ก.ค. – กกพ.เตือนค่าไฟอาจปรับขึ้นกลางปีหน้า จากบาทอ่อนค่าและราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น ส่วน 2 งวดนี้ยังตรึงราคาเท่าเดิมได้ โดยใช้เงินอุดหนุนจากเงินสะสมการคำนวณคลาดเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นมาถึง 1.5 หมื่นล้านบาท จากอากาศแปรปรวน ฝนตกเร็ว น้ำในเขื่อนเพิ่มผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าแผน
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แถลงว่า จากเงินบาทอ่อนค่าและราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับการอุดหนุนพลังงานทดแทน ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือเอฟทีขยับเพิ่มขึ้น 7.46 สตางค์/หน่วย แต่เนื่องจากมีเงินสะสมการคำนวณค่าไฟฟ้าคลาดเคลื่อนกว่า 15,279 ล้านบาท โดยใช้เงินส่วนนี้มาพยุงค่าไฟเอฟทีรอบนี้ไว้ 3,933 ล้านบาท ทำให้สามารถตรึงราคาค่าไฟเอฟทีงวดนี้เดือนกันยายน-ธันวาคมได้ที่ติดลบ 15.90 สตางค์ต่อหน่วย และจะสามารถตรึงงวดหน้าเดือนมกราคมถึงเมษายนได้ แม้คาดว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นอีก 10 บาทต่อล้านบีทียู หรือขึ้นไปอยู่ที่ 248 บาทต่อล้านบีทียู และคาดว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนเชื้อเพลิงคาดว่าเพิ่มขึ้น 5.6 สตางค์ต่อหน่วย หากตรึงเท่ากับงวดนี้จะต้องใช้เงินสะสมฯ เข้ามาดูแลประมาณ 8,000 ล้านบาท
“หาก กกพ.นำเงินทั้งหมดมาอุดหนุนค่าไฟทั้งหมดเลยจะทำให้ค่าเอฟทีงวดนี้ลดลงได้ถึง 20 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากพิจารณาแนวโน้มต้นทุนค่าไฟฟ้างวดต่อไปจะเพิ่มขึ้น จึงเกลี่ยเงินไปดูแลงวดถัด ๆ ไป โดยเงินตรึงค่าเอฟทีมาจากเงินสะสมที่งวดนี้ได้เข้าระบบเพิ่มขึ้นจากการที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงต่ำกว่าประมาณการณ์ ซึ่งอาจเป็นเพราะปีนี้ฝนมาเร็วและยังมาจากการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเพิ่มขึ้นทั้งจากฝั่งไทยและ สปป.ลาว รวมถึงโรงไฟฟ้าวีเอสพีพีหลายโครงการช้ากว่าแผน” นายวีระพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม อีก 2 งวดถัดไปในปีหน้า คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2562 ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีโอกาสขยับขึ้น จากต้นทุนก๊าซฯ สะท้อนจากราคาน้ำมันและยังมาจากพลังงานลมจะเข้ามาอีก 700-800 เมกะวัตต์ที่จะเข้ากลางปีหน้า มีผลทำให้เงินอุดหนุน พลังงานทดแทนอาจจะเพิ่มขึ้น จากอัตราขณะนี้อุดหนุนราว 25-27 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 15,000 ล้านบาทต่องวดเอฟที หรือประมาณ 45,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งภาคประชาชน ผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมรับมือ
ทั้งนี้ กกพ.เห็นชอบตรึงค่าไฟฟ้าเอฟที งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2561 คงเดิมไว้ที่ลบ 15.90 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฐานจะทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าคงเดิมเช่นกันที่ 3.5966 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเป็นการตรึงค่าไฟงวดที่ 4 ติดต่อกันตั้งแต่งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2560 หรือทำให้ตรึงค่าไฟได้ตลอดปี 2561หาก กกพ.นำเงินทั้งหมดมาอุดหนุนค่าไฟทั้งหมดเลยจะทำให้ค่าเอฟทีงวดนี้ลดลงได้ถึง 20 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากพิจารณาแนวโน้มต้นทุนค่าไฟฟ้างวดต่อไปจะเพิ่มขึ้น จึงเกลี่ยเงินไปดูแลงวดถัด ๆ ไป
สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2561 ดังนี้
1. ค่าเงินบาทอ่อนค่าจากประมาณการณ์เดิม จาก 32.05 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 32.14 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
2. ความต้องการไฟฟ้าเดือนกันยายน – ธันวาคม 2561 เท่ากับ 62,046 ล้านหน่วย ลดลงจากร้อยละ 5.74
3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2561 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 60.55 รองลงมาเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ร้อยละ 14.01 ลิกไนต์ ร้อยละ 9.57 และถ่านหินนำเข้า ร้อยละ 6.94
4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติรวมค่าผ่านท่อ อยู่ที่ 279.94 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 17.54 บาทต่อล้านบีทียู
สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ ในส่วน Adder และ FiT ในเดือนกันยายน – ธันวาคม 2561 มาอยู่ที่ 15,751 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 678.72 ล้านบาท เงินอุดหนุนอยู่ที่ 27.88 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น2.88 สตางค์ต่อหน่วย. -สำนักข่าวไทย