กรุงเทพฯ 5 ก.ค. – ม.หอการค้าไทยระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้ปรับตัวดีที่สุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 56 เตรียมปรับเพิ่มประมาณการจากโตร้อยละ 4.4 เป็นร้อยละ 4.5-5 ในเดือนหน้า โดยจะรอดูผลสงครามการค้าสหรัฐกับจีนและสหภาพยุโรป
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคมนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจจะปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4-4.5 และค่ากลางโตร้อยละ 4.4 จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นขยายตัวร้อยละ 4.5-5 ส่วนการส่งออกจะปรับประมาณเพิ่ม จากเดิมคาดว่าตลอดปีนี้จะโตร้อยละ 6-8 เป็นโตร้อยละ 8-10 ส่วนเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินเฟ้อไม่สูงมากนัก อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะคงอยู่ระดับเดิมในช่วง 6 เดือนนับจากนี้ไป
อย่างไรก็ตาม จะจับตาผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและสหภาพยุโรปก่อนปรับประมาณการเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าสงครามการค้าจะส่งผลกระทบไม่มากไปกว่านี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและหอการค้าไทยไม่เห็นสัญญาณว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบ โดยเศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโตดีสุดในรอบ 6 ปีนับจากปีที่เศรษฐกิจไทยเคยโตสูงร้อยละ 7.2 ปี 2555 ปี 2556 โตร้อยละ 2.7 ปี 2557 โตร้อยละ 1.0 ปี 2558 โตร้อยละ 3 ปี 2559 โตร้อยละ3.3 และปี 2560 โตร้อยละ 3.9
สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นผลสำรวจล่าสุด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 67.9 จากเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 66.9 หลังจากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะข้าวที่มีเกษตรกรเกี่ยวข้องเกือบ 5 ล้านครัวเรือน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น รวมถึงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังก็ราคาดีขึ้นเช่นกัน มีเพียงยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังคงมีระดับราคาต่ำ แต่คาดว่าระดับราคาจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ยอดจำหน่ายรถกระบะเพิ่มขึ้น แต่จักรยานยนต์ยังไม่ดีขึ้น เพราะกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวดีนัก มีการซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ปูนซีเมนต์เริ่มขายดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยบวกเดิม คือ ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ผลจากราคาสินค้าเกษตรค่อย ๆ ปรับดีขึ้น จึงเชื่อว่าไตรมาส 3 ปีนี้ หรือช่วงไตรสุดท้ายของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลจะเร่งใช้จ่ายงบประมาณและงบลงทุน รวมถึงเร่งโครงการอีอีซี ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะค่อยฟื้นตัวดีมากขึ้น บวกกับในช่วงไตรมาส 4 เกษตรกรขายข้าวออกมา การส่งออกดีต่อเนื่อง เงินลงทุนภาครัฐจะออกมาในระบบเศรษฐกิจ เม็ดเงินจะกระจายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละไม่เกิน 30 บาทของภาครัฐ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหยุดปรับตัวลง ขณะที่ความเห็นทางการเมืองปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ตามที่รัฐบาลระบุว่าจะจัดเลือกตั้งตามโรดแมพส่งผลการลงทุนเริ่มปรับมากขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบันเดือนมิถุนายนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 50.2 จากเดิมอยู่ที่ระดับ 49.3 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต 6 เดือนข้างหน้าของเดือนมิถุนายนปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 85.7 จากเดิมเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 84.5.-สำนักข่าวไทย