ชัวร์ก่อนแชร์ : ถอดบทเรียนจากถ้ำหลวง : การเปิดรับ-ส่งต่อข้อมูลโซเชียล


กทม. 3 ก.ค. – ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ถอดบทเรียนด้านข้อมูลข่าวสารดิจิทัลจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง ที่จะทำให้คนไทยรู้เท่าทันโซเชียลมากขึ้น 


ชัวร์ก่อนแชร์ : ถอดบทเรียนถ้ำหลวง เหตุใดเมืองไทยยังไม่ไร้ “ข่าวปลอม”

รายงานพิเศษ โดย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท

“พบแล้ว 1 ศพ”

พาดหัวข่าวที่สร้างความตื่นตกใจให้ชาวไทยบนโซเชียล เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 มาพร้อมภาพหมู่โค้ชและเหล่านักฟุตบอลทีมหมูป่าเป็นพื้นหลังของข้อความพาดหัวสีแดงสด ตัวอักษรแบบเดียวกับหนังสือพิมพ์ชื่อดัง และภาพเล็กในกรอบมุมบนขวา เป็นศพมนุษย์ในสภาพขึ้นอืดน่าสยดสยอง


เพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้คนไทยที่ติดตามความคืบหน้าการค้นหาทั้ง 13 ชีวิต ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังไม่มีใครทราบชะตากรรม ต่างหลงเชื่อและรีบกดแชร์ต่อให้เครือข่ายเพื่อนได้รับทราบข่าวสำคัญ โดยไม่ทันเฉลียวใจหรือฉุกคิดพินิจดูว่า เว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวนี้ คือ เว็บไซต์ที่สร้าง “ข่าวปลอม” อยู่เป็นประจำ

จากการติดตามเก็บข้อมูล พบว่าเว็บไซต์ข่าวปลอมแห่งนี้ มักอาศัยจังหวะที่มีประชาชนสนใจในประเด็นข่าวใหญ่ ปล่อยข่าวเท็จออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีคดีฆาตกรรมโหด หรือแม้แต่ช่วงที่ประชาชนรู้สึกเดือดร้อนเรื่องราคาน้ำมัน เว็บแห่งนี้ก็ยังสร้างข่าวที่ทำให้เกิดกระแสโจมตีรัฐบาล จนกระทั่งทางการดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนพบหลักฐานชัดว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเป็นคนในประเทศเพื่อนบ้าน และอาศัยอินเทอร์เน็ตเข้ามาทำมาหากินกับความนิยมโซเชียลของคนไทย และมีการออกหมายจับมาแล้ว

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก 3 บก.ปอท. ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสืบสวนจับกุม เปิดเผยว่า หลังจับกุมมาได้แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ขณะนี้ผู้ต้องหาได้ขอประกันตัว และทางการกัมพูชาจะดำเนินการส่งตัวกลับมาในขั้นตอนการส่งฟ้องดำเนินคดี

เบื้องหลังข่าวปลอม ยังคงเป็น “เงิน”

เมื่อปี 2559 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท เผยแพร่รายงานพิเศษชุด “แฉเว็บปลอม” เจาะลึกกลไกเทคนิคที่ผู้สร้างเว็บปลอมใช้หลอกลวงคนไทย ประกอบด้วย การสร้างข่าวปลอมที่น่าตกใจ โดยใช้ภาพประกอบที่ไม่เกี่ยวข้อง เผยแพร่บนเว็บไซต์ข่าวปลอม แล้วนำไปแชร์ต่อบนเครือข่าย Facebook โดยจุดมุ่งหมายหลักคือให้บุคคลทั่วไปหลงเชื่อและคลิกเข้ามาอ่าน รวมทั้งแชร์ต่อ ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เกิดยอดผู้คลิกเข้าชมแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก

“อย่าคลิก! อย่าแชร์! อย่าสนใจ! ไม่ว่าคุณจะคลิกเข้าไปดู หรือคลิกเข้าไปด่า คุณก็ตกเป็นเหยื่อแล้ว” เป็นคำเตือนสรุปรวบยอดสิ่งที่พึงปฏิบัติ ซึ่งศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ แนะนำอยู่บนแผ่นภาพอินโฟกราฟิกเตือนภัยข่าวปลอมทุกชิ้นที่นำเสนออย่างต่อเนื่อง เพราะผู้สร้างข่าวปลอมเหล่านี้ต้องการเพียงแค่ให้มีคนเข้าไปอ่านจำนวนมาก เพิ่มโอกาสการเห็นและคลิกโฆษณาเท่านั้น

หากเปรียบเทียบในเชิงเทคนิคเบื้องหลัง พบว่า เว็บปลอมในช่วงปี 2560-2561 มีลักษณะกลไกการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมที่ใช้วิธีการซ่อนโฆษณาแฝงไว้ซึ่งผู้คลิกเข้าไปไม่มีโอกาสได้เห็น เปลี่ยนมาเป็นการติดแบนเนอร์โฆษณาจำนวนมากหลายตำแหน่งแทน แต่อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์สุดท้ายก็ยังคงเป็นเม็ดเงินจากโฆษณาออนไลน์ที่นำมาติดให้ปรากฏนั่นเอง

จุดที่น่าสังเกตคือ การติดโฆษณาอย่างเปิดเผยบนหน้าเว็บข่าวปลอม แม้โฆษณาเหล่านั้นจะเป็นที่รับรู้กันว่าถูกสุ่มแสดงขึ้นมาโดยอัตโนมัติโดยระบบของตัวแทนโฆษณา เช่น Google Ads แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อแบรนด์ขนาดใหญ่ที่ถูกระบบนำโฆษณามาแสดงได้ ประชาชนบางส่วนอาจจะมองว่า แบรนด์เหล่านั้นสนับสนุนการเผยแพร่ข่าวปลอม

เมื่อสอบถามไปที่ทีมงาน Google Ads ก็ยังคงได้รับการยืนยันว่า ไม่มีนโยบายการสร้างรายได้ให้กับเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จและข่าวปลอมแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากการกดรายงานที่ตัวโฆษณาเองแล้ว ระบบยังได้เปิดหน้าเว็บไซต์เพื่อให้รายงานเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลเท็จเข้าไปให้ทีมงานได้รับทราบโดยตรง ประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาไปที่หมวด “การช่วยเหลือ” ของ Google Ads ได้

ไม่ใช่แค่ข่าวเดียว…

จากการเฝ้าระวังข่าวปลอมบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ พบว่าเพียงแค่ในช่วง 2 สัปดาห์ของเหตุการณ์ “ถ้ำหลวง” เว็บไซต์สร้างข่าวปลอมได้ปล่อยข่าวปลอมออกมาอย่างน้อย 8 ข่าว เฉลี่ยมีข่าวปลอมออกสู่ระบบวันเว้นวัน ระดับความเชื่อและปริมาณการแชร์ต่อก็แตกต่างกันไป 

หลายครั้งจะมีเสียงบ่นก่นต่อว่าจากผู้เสพข้อมูลไล่หลังข่าวปลอมแต่ละข่าว เหมือนราวจะหลาบจำกับข่าวปลอมที่ตนเองพลาดแชร์ไป แต่จนแล้วจนรอด ผ่านไปไม่กี่วัน สังคมโซเชียลก็ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมอีกครั้ง

“ตายอีกแล้ว! ซีล ศพ 2”

ข่าวปลอมนี้ฉวยโอกาสเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2561 หลังสังคมเพิ่งสะเทือนใจกับการสละชีวิตของจ่าเอกสมาน กุนัน มีผู้คนแชร์กันมากมาย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เร่งนำเสนอแผ่นภาพเพื่อเตือนกับดักให้ประชาชนทราบ แต่ก็ยังพบข้อความแชร์ด้วยความโกรธเคืองว่าทางการสั่งปิดข่าว ข่าวปลอมนี้จุดกระแสต่อไปอีกอย่างน้อย 2 วัน โดยบัญชีไลน์ “ข่าวจริงประเทศไทย” ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่เพิ่งกลับมาเคลื่อนไหวได้ไม่นาน ก็ได้เผยแพร่ว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561

เทคโนโลยีและเหยื่อ เอื้อให้ไทยยังมีข่าวปลอม

จะเห็นได้ว่าการที่ข่าวปลอมยังคงเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อจับตาแค่ช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ถ้ำหลวงนั้น ปัจจัยยังคงเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน “เมื่อมีคนเสพ ก็ย่อมมีคนผลิต”

ในเมื่อการสร้างเว็บปลอมสักแห่งนั้น มีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ยังไม่มีโทษทางกฎหมายที่หลาบจำ และคนไทยยังตกใจเชื่อและแชร์อะไรต่อได้ง่าย จึงไม่แปลกที่ผู้สร้างยังพร้อมจะหารายได้ด้วยวิธีเช่นนี้ต่อไป

…และไม่ได้มีแค่ข่าวปลอม

จากการเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารเท็จบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ยังพบว่ามีข้อมูลเท็จ ข้อมูลคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอีกหลายหัวเรื่อง ซึ่งเมื่อรวมกับข่าวปลอม 8 เรื่องแล้ว ทำให้จำนวนข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือในช่วงเวลาดังกล่าวมีมากกว่า 20 หัวเรื่อง ซึ่งเกิดจากทั้งการเจตนาจงใจ และ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาทิ

ข่าวปลอม 8 ข่าว

ข่าวที่เกิดจากความเข้าใจผิด เช่น คลิปกู้ภัยเผยว่าพบปล่องที่ไปถึงตัวเด็ก

ข่าวกุเกินจริง เช่น กุข่าวดราม่าถ้อยคำโค้ชเอก

ข่าวลือที่ไม่มีมูล เช่น การเชื่อมโยงกับเครือข่ายยาเสพติด

การใช้ภาพหรือคลิปผิดบริบท เช่น การใช้ภาพจากการทดสอบวัดอุณหภูมิมาอ้างว่าเป็นภาพจากภายในถ้ำ

การใช้ภาพหรือคลิปเก่า เช่น ภาพเด็กที่เคยถ่ายในถ้ำไว้ก่อนหน้านี้มาแชร์อ้างว่าเป็นภาพตอนที่ค้นพบ นำคลิปการซ้อมกู้ภัยในต่างประเทศมาอ้างว่าเป็นคลิปจากเหตุการณ์นี้

ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2561 นี้ นอกจากจะเป็นเวทีความร่วมใจจากนานาชาติแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่ช่วยสะท้อนภาพชัดของสถานการณ์ความอ่อนไหวต่อข้อมูลข่าวสารเท็จในสังคมไทย ที่ยังพร้อมจะเกิดขึ้นและแพร่กระจายได้ทุกเมื่อ

เพิ่มเพื่อน
วิธีการ • Add LINE ของสำนักข่าวไทย เข้าไปที่เพิ่มเพื่อน แล้วพิมพ์ @TNAMCOT ถ้าได้รับแชร์อะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาให้เราตรวจใน “ชัวร์ก่อนแชร์” พบกับสกู๊ปข่าวนี้ได้ในข่าวค่ำสำนักข่าวไทยทุกวัน 

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

คลอดลูกแฝดตกตึก

หญิงวัย 31 เพิ่งคลอดลูกแฝด พลัดตกตึก 18 ชั้น รพ.ดัง เสียชีวิต

สลด! หญิงวัย 31 ปี เพิ่งคลอดลูกแฝด พลัดตกตึก 18 ชั้น โรงพยาบาลดัง เสียชีวิต ด้านโรงพยาบาลแถลงแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมทบทวนมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก

ทหารควง M16 ยิงเพื่อนตำรวจดับคาบ้านพัก

ทหารพรานควง M16 บุกยิงเพื่อนตำรวจเสียชีวิตภายในบ้านพัก ก่อนขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านผู้ตาย เข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี เบื้องต้นคนก่อเหตุให้การวกวน เนื่องจากอยู่ในอาการหลอน

ลูกน้องปืนโหดรัวยิงหัวหน้างานดับคา สนง.ปฏิรูปที่ดินฯ

ลูกน้องชักปืนกระหน่ำยิงหัวหน้างานดับกลางห้องทำงาน สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.น่าน ก่อนลั่นไกยิงตัวเอง ปมเหตุขัดแย้งเรื่องงาน

จนท.ปะทะเดือด! เสียงปืนสงบพบศพคนร้าย 4 ศพ

ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง นำกำลังปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เกิดการปะทะ เสียงปืนสงบพบศพคนร้าย 4 ศพ ยึดอาวุธสงคราม 3 กระบอก

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยไทยตอนบนอุ่นขึ้น 1-2 องศาฯ ค่าฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่ม

กรมอุตุฯ เผยมวลอากาศเย็นมีกำลังอ่อน ส่งผลให้ไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาฯ ขณะที่ค่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่ม

กกต.ขอบคุณ ปชช.ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.

เลขาธิการ กกต. แถลงสถานการณ์หลังปิดหีบบัตรเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ ขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ พร้อมชี้แจงกรณีบัตรเลือกตั้งหายที่จังหวัดบึงกาฬ

นายกฯ วิดีโอคอลให้กำลังใจ 5 คนไทยที่อิสราเอล

นายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลให้กำลังใจ 5 คนไทยที่อิสราเอล ดีใจทุกคนสุขภาพแข็งแรงดี อยากให้ตรวจเช็กให้เรียบร้อยก่อนกลับไทย ยืนยันรัฐบาลดูแลสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่