คลัง 28 มิ.ย. – คลังแจงหลายปัจจัยหนุนเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม ทั้งส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี สูงสุดในรอบ 13 เดือน พร้อมขยับเป้าจีดีพีรอบใหม่เดือนหน้า
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พร้อมด้วยนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนพฤษภาคมปี 2561 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.8 ต่อปี ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 นับตั้งแต่ต้นปี 2560
ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน นับจากเดือนเมษายน 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 33.7 ต่อปี นับสัญญาณดีขึ้นในเกษตรกรบางกลุ่ม ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง นอกจากนี้ ปาล์มน้ำมันเริ่มดีขึ้นจากการใช้ไบโอดีเซลในการผลิตน้ำมันบี 20 และยางพาราเมื่อใช้ประโยชน์ด้านอื่นจากหลายหน่วยงานจะผลักดันกำลังซื้อเกษตรให้สูงขึ้น เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีอย่างชัดเจนสะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 28.6 ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 25.3 ต่อปี
สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้าง จากยอดการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 59 เดือน นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี ส่วนการส่งออกสินค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 22.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 11.4 ต่อปี นับว่าขยายตัวในตลาดสำคัญเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และกลุ่ม CLMV
เมื่อหลายหน่วยงานขยับจีดีพี เช่น ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าจีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.4 ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าจีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.5 การปรับเป้าหมายเดือนมิถุนายนคงไม่ใกล้เคียงกับหลายหน่วยงาน จากเศรษฐกิจไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 4.8 แม้ว่าทุกปีจีดีพีไตรมาส 2 มักจะลดลงกว่าไตรมาสแรก แต่ปีนี้คาดว่าจะไม่ลดลงมากจากหลายปัจจัยสนับสนุน ส่วนสงครามการค้าสหรัฐกับจีนและยุโรป คาดว่าจะไม่ยืดเยื้อและส่งผลต่อไทยน้อยมาก และอาจส่งผลดีทางอ้อมหันมาเลือกซื้อสินค้าจากไทยทดแทนบางส่วน.-สำนักข่าวไทย