กรุงเทพฯ 28 มิ.ย. – ทอท.ครบรอบ 39 ปี เดินหน้ารับโอนสนามบินอีก 4 แห่ง จากกรมท่าอากาศยานและรุกธุรกิจใหม่ ก้าวสู่โลจิสติกส์ฮับ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แถลงข่าวครบรอบ 39 ปี ระบุผลการดำเนินงานด้านการให้บริการในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60 – พ.ค.61) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท. 95,536,222 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.88 แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 55,021,195 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.03 และผู้โดยสารภายในประเทศ 40,515,027 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71
ส่วนผลประกอบการรอบ 6 เดือน (1 ต.ค.60-31 มี.ค.61) ทอท.มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 30,501.27 ล้านบาท และรายได้อื่น 758.63 ล้านบาท รวมรายได้คิดเป็น 31,259.90 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 14,495.72 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3,328.83 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสำหรับงวดดังกล่าว 13,435.35 ล้านบาท
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท.แล้ว ทอท.ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายในการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานภูมิภาคส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรองของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง 55 จังหวัด และเป็นโอกาสที่จะสามารถสนับสนุนให้เกิดโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาคอาเซียนและอนุภูมิภาค ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพและการบริหารท่าอากาศยานพาณิชย์ของประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานในภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยเบื้องต้น ทอท.เสนอขอเข้าบริหารท่าอากาศยานของ ทย. 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก โดย ทอท.แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาศักยภาพการบริหารงานท่าอากาศยานของ ทอท.เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนการเพิ่มศักยภาพการบริหารงานท่าอากาศยานของ ทอท. และกำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของ ทอท.ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
“สำหรับการดำเนินการรับโอนสนามบินจาก ทย.นั้น จะเริ่มจากสนามบินอุดรธานี ซึ่งจะเริ่มขั้นตอนทางเอกสารปลายปีนี้ คาดว่าจะเสร็จไตรมาส 2 ปี 2562 โดย ทอท.มีแผนที่จะลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี ประมาณ 1,500 ล้าน เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ เต็มรูปแบบ” นายนิตินัย กล่าว
ด้านการดำเนินธุรกิจ ทอท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานในด้านพัฒนาธุรกิจ โดย ทอท.อยู่ระหว่างการศึกษาหาแนวทางการพัฒนาแบบธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดจนการพัฒนาการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ ทอท.ที่ขณะนี้ผลการดำเนินงานด้านการให้บริการการขนส่งสินค้าทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูงขึ้นตั้งแต่ ทอท.เข้าดำเนินการเอง เช่นเดียวกับการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ ทภก.ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทอท.จึงจะมีการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานด้านนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้าน Logistic ของรัฐ
สำหรับการดำเนินการด้านหนึ่งของ ทอท.ขณะนี้ คือ การจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทางให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร โดยการใช้ประโยชน์เขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการรวบรวม คัดแยกและกระจายสินค้าในกลุ่มภูมิภาค และเพิ่มความมั่นใจในการส่งออก รวมทั้งลดปัญหาจากการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง โดย ทอท.ได้ศึกษาข้อมูลกับบริษัท Liege Airport S.A.ผู้บริหารท่าอากาศยาน Liege Airport ราชอาณาจักรเบลเยี่ยมผ่านความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement : SAA) ซึ่งท่าอากาศยาน Liege Airport เป็นเป็นท่าอากาศยานที่มุ่งเน้นการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นหลัก และเป็นท่าอากาศยานที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอันดับ 8 ของทวีปยุโรป.-สำนักข่าวไทย