ภูเก็ต 27 มิ.ย.- แม่โลมาลายแถบเกยตื้นที่พังงายังทรงตัวไม่ได้ต้องใช้ชูชีพพยุง สัตวแพทย์ห่วงภาวะติดเชื้อจากบาดแผลประเมินอาการใกล้ชิด พร้อมเก็บตัวอย่างเลือดส่งห้องแล็บตรวจหาสาเหตุป่วย ระบุลูกโลมาที่เกยตื้นด้วยถูกปล่อยสู่ทะเล เพราะได้วิเคราะห์ความเหมาะสมหลายด้านแล้ว
นางสาวพัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) จ.ภูเก็ต นายนเรศ ชูผึ้ง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 หรือ สบทช.9 และเจ้าหน้าที่ยังคงดูแลโลมาลายแถบอย่างใกล้ชิดในบ่ออนุบาล ศวทม. เป็นโลมาเพศเมียความยาวลำตัว 214 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม หลังจากวานนี้ (26 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือพร้อมโลมาอีกตัว เพศผู้ คาดว่าเป็นลูก ขณะเกยตื้นหาดคลองสน เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา โดยพบว่าโลมาตัวแม่มีสภาพอ่อนแรง ส่วนตัวลูกปกติและปล่อยกลับสู่ทะเล
นางสาวพัชราภรณ์ กล่าวว่า อาการของโลมาลายแถบตัวแม่ขณะนี้ ยังไม่สามารถทรงตัวได้เอง เจ้าหน้าที่ต้องใช้ชูชีพพยุงตัวอยู่ตลอดเวลา ขณะที่อาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อก็ยังอยู่ในระยะวิกฤติ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ต่ำกว่า 5-6 วัน อีกทั้งยังพบบาดแผลบริเวณโคนหาง ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อ นอกจากนี้ ได้เก็บตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการเพาะเชื้อหาสาเหตุการป่วยให้ชัดเจน ช่วงนี้ได้ให้ยาไปตามอาการ
นางสาวพัชราภรณ์ กล่าวว่า การเกยตื้นชายชาดในลักษณะคู่แม่ลูกของโลมานั้น พบได้ปกติตามธรรมชาติ เพราะโลมาเป็นสัตว์สังคม เมื่อแม่มาลูกก็ต้องมาหรือหากแม่ไม่ป่วยลูกป่วย ซึ่งการจะจับแยกแม่ลูกนั้นจะต้องมีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของโลมาว่าสามารถว่ายน้ำได้ตามปกติได้หรือไม่ หากปกติจะมีการแยกตัวที่ป่วยออกมา และตัวที่ปกตินำไปปล่อยกลับทะเล กรณีนี้ที่ปล่อยลูกกลับทะเล เนื่องจากพิจารณาและตรวจสภาพเบื้องต้นแล้ว พบว่ายังแข็งแรง หากนำมาไว้ในบ่ออนุบาลคงไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้เกิดอาการเครียดและอาจจะติดเชื้อจากแม่ได้ ขณะเดียวกันลูกโลมาดังกล่าวก็เป็นโลมาที่โตและหย่านมแล้ว จึงจำเป็นต้องแยกไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมาในภายหลัง.-สำนักข่าวไทย