ยังน่าห่วงอาการโลมาลายแถบเกยตื้นหาดภูเก็ต

ภูเก็ต 3 ธ.ค.-สัตวแพทย์ดูแลใกล้ชิดโลมาลายแถบบาดเจ็บเกยตื้นหาดในยาง ภูเก็ต เมื่อ  5 วันที่ผ่านมา อาการยังน่าห่วงต้องพยุงว่ายน้ำตลอด ให้ยาฆ่าเชื้อ พร้อมใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ช่วยรักษา ความคืบหน้าอาการของโลมาลายแถบ เพศเมีย ขนาดลำตัวยาวประมาณ  1.5 เมตร เกยตื้นบริเวณหาดในยาง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ในสภาพบาดเจ็บมีบาดแผลบริเวณครีบหลัง และปากที่เกิดจากเกยตื้นติดอยู่ในซอกหิน เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) จึงนำอนุบาลที่บ่อเลี้ยง โดยให้ยาคลายเครียด สารน้ำ และเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสาเหตุ พร้อมใช้ชูชีพช่วยพยุงตัว เนื่องจากโลมาไม่สามารถทรงตัวได้ และหัวมุดน้ำตลอดเวลา น.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ กล่าวว่า  ล่าสุด (3 ธ.ค.) อาการของโลมายังอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากติดเชื้อและมีบาดแผลที่ครีบ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ว่ายน้ำไม่ได้ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครต้องผัดเปลี่ยนกันช่วยพยุงโลมาตลอดเวลา เพื่อให้ว่ายน้ำ ขณะเดียวกันก็ให้ยาฆ่าเชื้อ และใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเลเซอร์เข้ามาช่วยในการรักษาบาดแผลอักเสบตรงครีบและลดอาการปวดกล้ามเนื้อของโลมา แต่อาการยังไม่พ้นวิกฤติ ซึ่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกคนได้พยายามอย่างเต็มความสามารถในการช่วยชีวิตโลมา.-สำนักข่าวไทย

โลมาลายแถบเกยตื้นพังงาต้องใช้เครื่องพยุงตัว ส่งเลือดตรวจหาสาเหตุป่วย

ภูเก็ต 27 มิ.ย.- แม่โลมาลายแถบเกยตื้นที่พังงายังทรงตัวไม่ได้ต้องใช้ชูชีพพยุง สัตวแพทย์ห่วงภาวะติดเชื้อจากบาดแผลประเมินอาการใกล้ชิด พร้อมเก็บตัวอย่างเลือดส่งห้องแล็บตรวจหาสาเหตุป่วย ระบุลูกโลมาที่เกยตื้นด้วยถูกปล่อยสู่ทะเล เพราะได้วิเคราะห์ความเหมาะสมหลายด้านแล้ว นางสาวพัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) จ.ภูเก็ต นายนเรศ ชูผึ้ง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 หรือ สบทช.9 และเจ้าหน้าที่ยังคงดูแลโลมาลายแถบอย่างใกล้ชิดในบ่ออนุบาล ศวทม. เป็นโลมาเพศเมียความยาวลำตัว 214 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม หลังจากวานนี้ (26 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือพร้อมโลมาอีกตัว เพศผู้ คาดว่าเป็นลูก ขณะเกยตื้นหาดคลองสน เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา โดยพบว่าโลมาตัวแม่มีสภาพอ่อนแรง ส่วนตัวลูกปกติและปล่อยกลับสู่ทะเล นางสาวพัชราภรณ์ กล่าวว่า อาการของโลมาลายแถบตัวแม่ขณะนี้ ยังไม่สามารถทรงตัวได้เอง เจ้าหน้าที่ต้องใช้ชูชีพพยุงตัวอยู่ตลอดเวลา ขณะที่อาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อก็ยังอยู่ในระยะวิกฤติ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ต่ำกว่า 5-6 วัน อีกทั้งยังพบบาดแผลบริเวณโคนหาง ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อ นอกจากนี้ ได้เก็บตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการเพาะเชื้อหาสาเหตุการป่วยให้ชัดเจน ช่วงนี้ได้ให้ยาไปตามอาการ  […]

...