รัฐสภา27 มิ.ย.- ตัวแทนข้าราชการและข้าราชการบำนาญทั่วประเทศ เข้าชื่อยื่นประธาน สนช. ขอแก้ไขร่างกม.บำเหน็จบำนาญ 3 ฉบับ ให้คำนวณสูตรค่าตอบแทนสมาชิกใหม่ หลังพบร่างของรัฐบาลลิดรอนสิทธิ์และไม่ใช่ข้อเท็จจริงของอายุราชการ
เครือข่ายภาคประชาชนและข้าราชการทุกประเภท นำโดยพ.ต.วชิพร ยี่ทอง ตัวแทนข้าราชการและข้าราชการบำนาญทั่วประเทศ เข้ายื่นรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เสนอขอแก้ไขกฎหมายต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอ ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่างพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจากเนื้อหาของร่างกฎหมาย 3 ฉบับของรัฐบาล มีการลิดรอนสิทธิ์ของข้าราชการ เรื่องการคำนวณเงินบำนาญสมาชิก กบข. ที่ถูกปรับสูตรคำนวณใหม่ จากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการ หารด้วย 50 แต่ผลที่ได้ต้องไม่เกินเพดาน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายด้วย ส่งผลให้ข้าราชการมีรายได้หลังเกษียณลดลง จึงสงสัยว่าการเสนอร่างกฎหมายของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้หารด้วย 50 มีที่มาอย่างไร มีใครอายุรับราชการถึง 50 ปีบ้าง
มาตรา23 วรรคสาม ระบุไว้ชัดเจนว่า การคำนวณวันเวลาราชการคิดจากอายุ 18 ปีบริบูรณ์จนถึงเกษียณ ซึ่งคำนวณแล้วมีอายุราชการแค่ 42 ปี เพราะข้อเท็จจริง การเริ่มชีวิตราชการต้องมีคุณวุฒิปริญญาตรี กว่าจะเข้ารับราชการอายุเกือบ 30 ปี มีอายุราชการ 30 ปีจนเกษียณเท่านั้น หากหารด้วย50 จะทำให้ข้าราชการได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ดังนั้น ข้าราชการและบำนาญทั่วประเทศจึงขอเสนอให้แก้ไขวิธีการคำนวณเงินบำนาญ กบข. ให้กลับมาใช้ตามเดิมคือ เงินเดือนสุดท้ายไม่ต้องหาค่าเฉลี่ย คูณด้วยเวลาราชการไม่เกิน30ปี หารด้วย 30 ซึ่งเป็นไปตามสากล และเสนอให้ยกเลิกโครงการ early retirement ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระด้วย.- สำนักข่าวไทย