กทม. 26 มิ.ย. – มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังกฤษฎีกาเปิดรับฟังข้อเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 โดยเฉพาะสาระสำคัญในเรื่ององค์ประกอบของกรรมการมหาเถรสมาคม
สาระสำคัญของร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอ ทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็น คือ ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้ถวายเป็นพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ ในการแต่งตั้งพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ โดยมองว่าโครงสร้างเดิมมีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการกำหนดให้สมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง แต่ในทางปฏิบัติบางรูปอายุมาก ประสบปัญหาสุขภาพ บางรูปต้องคดีอาญา จึงไม่ตั้งอยู่ในความเลื่อมใสศรัทธา ยังรวมไปถึงการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค ให้เป็นไปตามพระราชดําริ
โครงสร้างกรรมการ มส.ปัจจุบัน มีกรรมการ 20 รูป และสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ซึ่งมีกรรมการโดยตำแหน่ง คือ สมเด็จพระราชาคณะ ทั้งธรรมยุติและมหานิกาย ที่ทรงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จ ปัจจุบันมี 8 รูป แบ่งเป็นฝ่ายละ4 รูป ที่เหลืออีก 12 รูป สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้ง โดยทรงพิจารณาพระราชาคณะชั้นนักธรรมขึ้นไปในสัดส่วนเท่ากันฝ่ายละ 6 รูป มีวาระ 2 ปี ปัจจุบันกรรมการ มส.ว่าง 3 ตำแหน่ง เนื่องจากมีส่วนพัวพันกับคดีเงินทอนวัด ทั้งพบว่ากรรมการ มส.อีก 2-3 รูป ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากอาพาธ
เหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การเปิดรับฟังความเห็นปรับแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ กฤษฎีกา เป็นเวลา 7 วัน เริ่มตั้งแต่ 20 มิถุนายนที่ผ่าน ล่าสุดมีประชาชน คณะสงฆ์ เพียง 200 ราย ส่งความเห็นหลากแง่มุม ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ นัดประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนรัฐบาลและผู้แทนคณะสงฆ์ เพื่อหารือและประมวลข้อเสนอ ก่อนจัดทำเป็นร่างฉบับสมบูรณ์
พระสงฆ์ในประเทศไทยปัจจุบันมีร่วม 300,000 รูป บางส่วนยังไม่ทราบรายละเอียดของการปรับแก้ เนื่องจากเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ต้องส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ อาจทำให้ขาดโอกาสแสดงความคิดเห็นบางประการ พระธรรมกิตติเมธี เจ้าคณะภาค 16-18 ธรรมยุติ ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ สะท้อนว่าการเปิดรับฟังความเห็นครั้งนี้ถือว่าดี แต่ควรให้เวลามากกว่านี้ เนื่องจากการเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโครงสร้างคณะสงฆ์ ในรอบ 50 ปี และควรนิมนต์คณะสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย อย่างน้อย 20 รูปขึ้นไป ร่วมพิจารณา และจัดเป็นระเบียบวาระการประชุมที่ชัดเจน จะได้เป็นกฎหมายที่มาจากการมีส่วนรวมของสงฆ์อย่างแท้จริง
การเปิดรับฟังความเห็นกำหนดสิ้นสุด 27 มิถุนายนนี้ หลังจากนั้นกฤษฎีกาจะรวบรวมทุกความเห็นมาวิเคราะห์และประมวลผล จัดทำเป็นร่างฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี ก่อนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ไม่ชัดเจนว่าร่างกฎหมายจะถึงมือคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้หรือไม่ เนื่องจากมีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ขยายระยะเวลาเสนอความเห็น เพื่อให้การแก้โครงสร้างการบริหารงานของคณะสงฆ์ครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด. – สำนักข่าวไทย