ท่าเรือคลองเตย 26 มิ.ย. – ศุลกากรฯ-กรมโรงงาน เสนอทบทวนอนุสัญญาบาเซล งัดกฎหมาย ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ผลักดันส่งกลับ
นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรร่วมกับกรมโรงงานออกประกาศชะลอการพิจารณาอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก เศษโลหะ ตั้งแต่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยังมีการขออนุญาตนำเข้าก่อนหน้านี้ ผู้นำเข้าแจ้งนำเข้าผ่านท่าเรือคลองเตยต้องทำการตรวจสอบ 428 ตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง 1,000 ตู้ จึงร่วมกับกรมโรงงานเปิดตู้ตรวจสอบ นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก เศษโลหะ ทำผิดเงื่อนไข ไม่มีใบอนุญาต
เบื้องต้นพบว่าต้องดำเนินการผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางทั้ง 2 ท่าเรือ กว่า 400 ตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมทั้งประสานกองทัพเรือติดตามดูแลการลักลอบทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในทะเลอ่าวไทย แต่ยอมรับว่ากระทำได้ยาก เพราะการทิ้งตู้คอนเทนเนอร์อาจส่งผลต่อการลอยเรือในทะเล
นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากชะลอพิจารณาใบอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก เศษโลหะ ตั้งแต่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะทำงานร่วมระหว่างกรมโรงงานฯ ศุลกากร การท่าเรือฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.กรมโรงงาน 2535 มาตรา 32(2) และพิจารณาห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด แทนการออกประกาศ ม.44 บังคับใช้จากหัวหน้า คสช. รวมถึงการศึกษาร่วมกับนักวิชาการ ทบทวนอนุสัญญาบาเซลกับประเทศภาคีสมาชิก เพื่อป้องกันขยะอิเล็กทรอนิกส์ไหลเข้าประเทศจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสินค้านำเข้าบางรายการ เมื่อสภาพการใช้งานหมดอายุแล้วต้องส่งกลับไปประเทศผู้ผลิตต้นทาง เพื่อจัดการกับของเหลวภายในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งส่วนประกอบภายในเป็นน้ำมันของเหลวบรรจุหม้อแปลง เมื่อหมดอายุการใช้งานต้องส่งกลับไปประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น และฝรั่งเศสยินดีนำส่งกลับไปแปรสภาพเพื่อรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีของเขา เพราะไทยไม่สามารถขจัดขยะของเหลวดังกล่าวได้ สินค้าลักษณะนี้มีหลายประเภท ซึ่งไทยต้องส่งกลับคืนไปตามอนุสัญญาบาเซล จึงต้องศึกษาผลดีผลเสีย แต่เบื้องต้นเพื่อบรรเทาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมาก จึงต้องห้ามนำเข้าด้วยมาตรการเข้มงวดก่อนอันดับแรก ส่วนระยะยาวต้องศึกษาออกมาตรการเพิ่มเติม.-สำนักข่าวไทย