กรุงเทพฯ 24 มิ.ย.- ม.รังสิต คงจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 4.1-4.7 คาด เงินบาท จะอ่อนค่าแตะระดับ 33.50-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 ส่วนของเงินบาท มีความเสี่ยงต่ำที่จะถูกโจมตี
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะเศรษฐศาสตร์ฯ ยังไม่ปรับคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ปีนี้ ยังคงไว้ที่โตร้อยละ 4.1-4.7 เงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0-1.5 การลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 3-4 แต่การลงทุนเอกชนจะชะลอตัวลงทันที หากไม่มีการเลือกตั้งหรือกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้ในช่วงต้นปีหน้า การบริโภคเอกชนจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 3 การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยไม่ได้ส่งผลให้ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นมากนัก
“แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ยังมีลักษณะเป็นการเติบโตที่ยังกระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น แต่รายได้และผลประโยชน์ยังไม่กระจายมายังกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กและประชาชนโดยทั่วไปมากนัก ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรบางตัวปรับตัวลดลงมากทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทไม่ดีนัก” นายอนุสรณ์ กล่าว
สำหรับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีผลระยะสั้นและระยะปานกลาง ยังคงมีทั้งผลทั้งด้านบวกและลบต่อภาคส่งออกของไทย ซึ่งหากสงครามการค้ายืดเยื้อ จะเกิดความเสียหายต่อปริมาณการค้าโลกและกระทบสุทธิต่อภาคส่งออกไทยปีนี้ให้เป็นลบได้
ด้านเงินบาท มีความเสี่ยงต่ำที่จะถูกโจมตี เพราะไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง เงินเฟ้อต่ำและยังคงเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ยังต้องเผชิญกระแสเงินทุนระยะสั้นไหลออกอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ โดยอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 ได้ แต่เงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลดีต่อภาคส่งออกไม่มากนัก เพราะยังมีความผันผวนสูง ซึ่งค่าเงินกลุ่มประเทศคู่แข่งใน Emerging Markets ก็ปรับตัวอ่อนค่าเช่นกัน แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และหากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน เงินยังคงไหลออกจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ถึงตอนนั้น อาจต้องพิจารณาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี
ด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ การปรับตัวลดลงและการปรับฐานราคาครั้งใหญ่ของราคาหุ้น เป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ การทำ QE Exit และ ความวิตกกังวลเรื่องสงครามการค้า
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ความวิตกกังวลเรื่องสงครามการค้า ส่งผลให้ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้ว 165,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากในช่วงสองไตรมาสแรกของปีนี้ หากรวมยอดขายสะสมสุทธิที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 มียอดสะสมสูงถึง 498,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีน้ำหนักหุ้นไทยเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งใกล้เคียงกับน้ำหนักหุ้นไทยใน MSCI Asia ex. Japan Index ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งแรงขายเพิ่มเติมจะเกิดจากการลดน้ำหนักการลงทุนของกองทุนต่างชาติในตลาดเกิดใหม่ ส่วนปัจจัยภายในของไทยที่กระตุ้นแรงเทขาย คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความเสี่ยงทางการเมืองมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ .-สำนักข่าวไทย